เชื่อว่าคออนิเมหลาย ๆ คนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตากันมากนัก สำหรับอนิเมชั่นสุดอินดี้สองเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสองผลงานล่าสุดจากผู้กำกับ Ikuhara Kunihiko ที่เป็นเจ้าของผลงานระดับตำนานอย่างนักรบสาวอูเทน่าเมื่อหลายปีก่อน แต่แล้วอนิเมชั่นสองเรื่องนี้ ที่ดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย มันมีอะไรแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ในเรื่องราวพิลึกกึกกือนั้นด้วยหรือ ต้องขอตอบว่า มีมากมายจนไม่อาจจะหยิบยกมากล่าวถึงให้จบในระยะเวลาสั้นๆ เลยทีเดียวครับ แต่ ณ ที่นี้จึงขอเลือกเอาประเด็นหนึ่ง ที่ทั้งสองเรื่องมีที่มาที่ไปอันคล้ายคลึงกัน เรื่องในโอกาสที่ Yuri Kuma Arashi เพิ่งเริ่มฉายได้ไม่นาน มากล่าวถึงสักหน่อยดีกว่า
ผู้กำกับ Ikuhara (ขวา) กับ Arakawa Miho (ซ้าย) นักพากย์สาวเจ้าของเสียง Himari (Penguindrum) และ Ginko (Yurikuma) ที่ได้ร่วมงานในอนิเมทั้งสองเรื่อง
Penguindrum กับ เหตุก่อการร้ายรถไฟใต้ดินของลัทธิโอมชินริเกียว
สามพี่น้องทาคาคุระ จากซ้าย Shoma น้องรอง Kanba พี่คนโต
Himari น้องคนเล็ก
ในอนิเมชั่นที่ฉายไปเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมานั้น เรื่อง Mawaru Penguindrum ถือว่าเป็นอนิเมกระแสรองที่ค่อนข้างได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ชมนอกเหนือจากอนิเมกระแสหลักในช่วงนั้นอย่าง iM@S หรือ Utapri ภาคแรก กับเรื่องราวของสามพี่น้องตระกูลทาคาคุระที่กำพร้าพ่อแม่ และกำลังจะสูญเสียน้องสาวคนเล็กของบ้านไป แต่ว่าเธอกลับถูกต่อชีวิตด้วยหมวกเพนกวินลึกลับใบหนึ่งที่ทำให้เธอกลายเป็นตัวแทนของ “เจ้าหญิงคริสตัล” ในการมอบภารกิจ “ยุทธการเอาชีวิตรอด” ให้พี่ชายทั้งสองออกตามหา “เพนกวินดรัม” เพื่อต่อชีวิตของน้องสาวให้ยืนยาวต่อไปให้ได้แม้จะไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไรก็ตาม
Himari ที่ได้รับพลังจากหมวกเพนกวินลึกลับทำให้ฟื้นคืนชีวิต และเมื่ออยู่ในร่างของ “เจ้าหญิงคริสตัล” เธอจะมอบหมายภารกิจเกี่ยวกับการตามหา “เพนกวินดรัม” แก่พี่ชายทั้งสอง
แต่ทว่าช่วงกลางเรื่อง ได้มีการเปิดเผยถึงปูมหลังของสามพี่น้องนี้ โดยที่พ่อแม่ของพวกเขา เคยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ก่อการร้าย (ในเรื่องเรียกว่าเป็น “องค์กร” มีสัญลักษณ์เป็นรูปเพนกวินสีขาวดำ) ที่ก่อเหตุสร้างโศกนาฏกรรมในรถไฟใต้ดินสายหลักที่กรุงโตเกียว จนนำมาสู่ความแตกแยกของครอบครัวทาคาคุระ และเปลี่ยนวิถีชีวิตของสามพี่น้องไปตลอดกาล
องค์กรคิกะ มีสัญลักษณ์เป็นรูปเพนกวิน ที่ซึ่งก่อเหตุวินาศกรรมสถานีรถไฟใต้ดินภายในเรื่อง
ภาพในห้วงมิติที่ตัวละครบอกเล่าเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมเมื่อ 16 ปีก่อน ฉากรอบ ๆ มีตัวเลข 95 เรียงรายอยู่
อาจหมายถึงปี 1995 ที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งในเรื่องและในความเป็นจริง
แม้ว่าปัจจัยประกอบต่าง ๆ ในอนิเมจะค่อนข้างซับซ้อนและหลากหลาย แต่เหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวที่อนิเมเอ่ยว่าเป็น 16 ปีก่อน ถือว่าตรงกับปีเดียวกัน (2011-16 = ปี 1995) ในอุบัติการณ์แก๊สซารีน (Subway Sarin Incident) ที่ผู้นำลัทธิโอมชินริเกียว (ลิทธิความเชื่อหนึ่งที่ผสมผสานระหว่างพุทธและฮินดู โดยมีความเชื่อในวันสิ้นโลก) ได้ทำการปล่อยแก๊สพิษโจมตีบริเวณชุมสายรถไฟใต้ดินสถานี Kasumigaseki (คาซุมิกาเซกิ) และ Nagatacho (นางาตะโจ) ซึ่งอยู่บนเส้นรถไฟใต้ดินสาย Marunouchi (มารุโนอุจิ) ซึ่งเป็นสายรถไฟเดียวกับที่มีการนำเสนอในอนิเมชั่นเรื่องนี้อีกด้วย อีกทั้งสถานที่เกิดเหตุในอนิเมก็ตรงกัน จึงอาจจะกล่าวได้ว่า เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมของ “องค์กร” ในอนิเมเรื่องนั้น มีแรงบันดาลใจหรืออ้างอิงมาจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญครั้งใหญ่ของชาวกรุงโตเกียวในตอนนั้นอย่างมีนัยยะชัดเจน
ภาพเหตุการณ์วันเกิดเหตุเมื่อปี 1995
เส้นทางการก่อเหตุของผู้ก่อวินาศกรรมบนเส้นทางรถไฟสาย Marunouchi
ภายในอนิเมมีการนำเสนอเส้นทางการเดินเรื่องด้วยรถไฟสถานีต่างๆ บนสาย Marunouchi ทั้งหมด
นอกจากนี้ในอนิเมยังมีความหมายแฝงเชิงสัญลักษณ์ในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น ค่านิยมการฆ่าตัวตายของชาวญี่ปุ่น หรือ คอนเซ็ปต์เกี่ยวกับละครเวที และอื่น ๆ ซึ่งถ้าให้แจกแจงทั้งหมดคงยาวน่าดูครับ เอาเป็นว่าในแง่ของการนำเหตุโศกนาฏกรรมที่เป็นข่าวใหญ่โตในญี่ปุ่นมาใช้ สำหรับผลงานชิ้นต่อมาของผู้กำกับ Ikuhara ก็ยังคงมีต่อไป ในเรื่องนี้ครับ
Yuri Kuma Arashi กับ อุบัติการณ์หมีสีน้ำตาลที่ Sankebetsu
Ginko (หมีสีดำ) และ Ruru (หมีสีน้ำตาล) หมีสาวคู่หูที่แฝงตัวเข้ามาหมายจะ “กินมนุษย์”
อนิเมชั่นที่ดัดแปลงมาจากมังงะซึ่งแต่งเรื่องโดยผู้กำกับ Ikuhara เอง โดยในฉบับอนิเมนั้นได้เริ่มฉายในซีซั่นต้นปี 2015 นี้ เบื้องต้นเลยเรื่องนี้กล่าวถึงโลกในยุคสมัยหนึ่งที่ดาวตกประหลาดจากฟากฟ้า ได้มอบพลังให้กับ “หมี” ในการแทรกซึมอยู่กับมวลมนุษย์ และยังทำร้ายและกินมนุษย์อีกด้วย โดยที่ตัวเอกของเรื่องนี้ Kureha คือเด็กสาวที่พบกับความสูญเสียจากเหล่าหมี จึงได้จับปืนออกไล่ล่าหมีที่แฝงตัวอยู่ในหมู่ผู้คน แต่เรื่องราวกลับเต็มไปด้วยปมซับซ้อนซ่อนเงื่อนอีกมากมายสุดจะคาดเดา
Kureha เด็กสาวที่สูญเสียแม่และคนรักไปเพราะหมี จึงตั้งปณิธานในการเป็นนักล่า
แล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องหรือได้รับแรงบันดาลใจจากโศกนาฏกรรมในอดีตอย่างไร อันที่จริงก็มีการเผยไว้ตั้งแต่ชื่อเรื่องแล้วด้วยครับ กล่าวคือ คำว่า “Kuma Arashi” (แปลว่า พายุหมี) จากชื่อเต็มของเรื่องนั้น เป็นชื่อของวรรณกรรม ละครวิทยุ และละครเวที ที่นำเสนอเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าวช่วงยุค 60 ถึง 80 และปีที่เกิดเหตุดังกล่าวนี้คือปี 1915 หรือก็คืออนิเมเรื่องฉายในช่วงครบ 100 ปีของอุบัติการณ์นี้อีกด้วย นอกจากนี้ ภาพแขวนบนผนังในห้องนอนของตัวเอก Kureha ยังมีภาพถ่ายโบราณของอุบัติการณ์ดังกล่าวติดตั้งอยู่อีกต่างหาก
ภาพแขวนบนผนังห้องนอนของ Kureha คล้ายคลึงกับภาพการล่าหมี Kesagake ในอุบัติการณ์เมื่อปี 1915
ภาพปกวรรณกรรม “Kuma Arashi” (ซ้าย) ที่เขียนขึ้นจากอุบัติการณ์ปี 1915 กับภาพปกมังงะ “Yurikuma Arashi” เล่ม 1 สังเกตว่าชื่อเรื่องทั้งสอง ตรงอักษรคันจิสองตัว “Kuma Arashi” ใช้อักษรเดียวกัน
โดยอุบัติการณ์ ดังกล่าว ได้รับการเรียกขานว่าเป็นเหตุการณ์หมีทำร้ายมนุษย์ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมาในญี่ปุ่น เหตุนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดฮอกไกโด เมืองโทยามะ หมู่บ้าน Sankebetsu (ซันเคะเบะซึ) ซึ่งในยุคสมัยนั้นผู้คนยังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางป่าเขาและที่ราบลุ่มเป็นส่วนมาก และหมีสีน้ำตาลตัวใหญ่ตัวหนึ่งที่ชาวบ้านตั้งชื่อมันว่า Kesagake (เคซากะเกะ) ได้เข้ารุกรานไร่ข้าวโพดจนถูกชาวบ้านยิงบาดเจ็บ แต่แล้วมันก็กลับมาล้างแค้นเหล่าชาวบ้านอย่างเหี้ยมโหด ด้วยการบุกเข้าบ้านที่ไร้การป้องกัน ฆ่าและฉีกกินทั้งเด็กและผู้หญิงรวม 6 คนในระยะเวลาเพียงสองวัน หลังจากนั้นเหล่าชาวบ้านกับทีมนักล่าก็รวมตัวกันเพื่อไล่ล่าเจ้าหมีตัวนี้ และในที่สุดก็จัดการมันได้ในไม่กี่วันต่อมา
อนุสรณ์สถาน Sankebetsu ที่ฮอกไกโด มีรูปปั้นจำลองขนาดเท่าตัวจริงของหมี Kesagake และกระท่อมฟางที่จำลองเป็นบ้านของผู้เคราะห์ร้ายในเหตุการณ์ครั้งนั้น รวมทั้งมีการจัดแสดงเป็นกึ่งนิทรรศการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว
เกร็ดที่น่าสนใจคือ Haruyoshi Ogawa ลูกชายผู้นำหมู่บ้านที่เกิดเหตุนั้น เขาได้เติบโตเป็นนักล่าหมีมือฉมัง และปฏิญาณตนว่าจะออกล่าหมีเป็นการล้างแค้นให้กับชาวบ้านที่ตายจากไปอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปี สังหารหมีป่าไปกว่า 100 ตัวจนวางมือในวัยชรา แล้วจึงสร้างอนุสรณ์สถานให้แก่เหล่าผู้คนที่เสียชีวิตจากหมีป่าไว้เป็นเครื่องรำลึกอีกด้วย ซึ่งเจตนารมณ์ดังกล่าวก็ถือว่าใกล้เคียงกับบทบาทของ Kureha ในอนิเม ที่ลุกขึ้นมาจับปืนออกไล่ล่าหมีที่แฝงกายในหมู่มนุษย์ และก็อาจจะกล่าวได้ว่า อนิเมเรื่องนี้ ได้นำเอาคอนเซ็ปต์ของการที่หมีรุกรานและกินมนุษย์จากอุบัติการณ์ดังกล่าว มาเป็นแรงบันดาลใจนั่นเอง
ภาพถ่ายคุณ Yamamoto Heikichi นักล่าหมีมือฉมัง ที่เป็นแกนนำในการไล่ล่าหมี Kesagake
ภาพ Kureha ในอนิเมขณะถือปืนเผชิญหน้ากับหมี
และอนิเมทั้งสองเรื่องนี้ แม้ภาพรวมจะเป็นเรื่องราวที่ซับซ้อน แต่จากที่มีการอ้างอิงถึงโศกนาฏกรรมในอดีต ให้กลายมาเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับความสูญเสีย ก็ได้ช่วยให้ทั้งสองเรื่องนี้เต็มไปด้วยความเข้มข้น และสะท้อนถึงแง่มุมอีกมากมายจากความเป็นมนุษย์ ที่สื่อถึงความเป็นและความตายอย่างถึงแก่นเลยทีเดียว ก็เป็นอีกหนึ่งเกร็ดสาระที่เราขอนำมาฝากไว้ ณ ที่นี้ครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
- คลิปวิดีโอ รวมข้อมูลเหตุการณ์วันเกิดเหตุแก๊สซาริน
- Wikipedia
- Wired
- สารคดีจำลองเหตุการณ์ ข้อมูลอุบัติการณ์หมีสีน้ำตาล
- Japan Powered