Part 2 ยุคสร้างอาณาจักร
จากตอนที่แล้ว เราได้เปิดยุคอารยธรรมยุคแรกของญี่ปุ่น ที่มีการนำมาประยุกต์ในสื่อภาพยนตร์ อนิเม และเกมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งยุคแรกก็เรียกได้ว่ามีความโดดเด่นไม่ใช่น้อยแล้ว ในยุคถัดมาก็ถือว่าไม่ได้ลดความน่าสนใจลงไปแต่อย่างใดครับ และนี่คือยุคต่อไปที่เราจะกล่าวถึง
ยุคสร้างอาณาจักร (ค.ศ.538-ค.ศ.1185)
พระพุทธรูปใหญ่ หรือหลวงพ่อโต (Daibutsu – ไดบุทซึ) ที่วัดโทไดจิ จังหวัดนาระ มีการปรับปรุงและสร้างใหม่หลายครั้ง
อาณาจักรยามาไตในยุคก่อน ถือเป็นยุคริเริ่มสำหรับการรวมตัวของชนเผ่าต่าง ๆ ที่ประปรายทั่วญี่ปุ่น เนื่องจากลักษณะของภูมิประเทศในญี่ปุ่นนั้น เป็นที่ราบลุ่มสลับกับภูเขาและเทือกเขา ดังนั้นจึงมีการแบ่งเขตแดนปกครองดูแลกันมากมายหลายส่วน ซึ่งการวางรากฐานในยุคของพระนางฮิมิโกะถือเป็นการริเริ่มที่ดี เพราะในยุคถัดมาเช่นสมัยอาซึกะและนาระ (ค.ศ.700 เป็นต้นไป) อารยธรรมจากแผ่นดินใหญ่ เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ระบบสังคมก็พัฒนาไปพร้อม ๆ กัน
วัดโทไดจิ จังหวัดนาระ ในปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาเยี่ยมชมตลอดทั้งปี
ในยุคนี้ พระพุทธศาสนาได้เข้ามาหลอมรวมกับความศรัทธาของผู้คน ผ่านการมาเยือนของพระสงฆ์จากประเทศจีน และเป็นยุคที่ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นรุ่งเรืองที่สุด โดยเฉพาะเมืองนาระที่เป็นเมืองหลวง ปัจจุบันนี้ก็ได้เป็นหนึ่งในวัดที่เต็มไปด้วยพุทธปฏิมาและอารามต่าง ๆ มากที่สุด รวมถึง ไดบุทซึ (Daibutsu) หรือรูปปั้นหลวงพ่อโต ที่วัดโทได (โทไดจิ Todai-ji) ก็ได้ถูกสร้างขึ้นในยุคสมัยนี้นั่นเอง
(ซ้าย) ไดบุทซึ ที่ลุกขึ้นมามีชีวิตด้วยลูกแก้ววิเศษ จากเรื่อง YAIBA (ไยบะ) แต่เพื่อเลี่ยงประเด็นศาสนา ไดบุทซึในเรื่องจึงไปมีหน้าตาคล้ายองค์พระที่จังหวัดคามาคุระแทน (ขวา) เอเลี่ยนจากเรื่อง Gantz ที่เลียนแบบรูปลักษณ์ของไดบุทซึ
(ซ้าย) ร่างไดบุทซึของผู้พันเซนโกคุ จากเรื่อง One Piece (ขวา) ร่างสุดยอดของพระ Wyzen จากเกม Asura’s Wrath ซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายกับไดบุทซึ
ทว่าด้วยการรับธรรมเนียมวัฒนธรรมจากต่างประเทศมากเข้า ระบบระเบียบของสังคมญี่ปุ่นในปลายยุคนาระก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจนคล้ายคลึงกับประเทศจีนด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นธรรมเนียมขงจื๊อ ที่ส่งเสริมระบอบอาวุโส และการให้เพศชายเป็นผู้นำ และระบบของชนชั้นปกครองคล้ายฮ่องเต้ ก็ถูกนำมาปรับใช้กับระบอบจักรพรรดิในยุคถัดมา นั่นก็คือ ยุคเฮอัน
(ซ้าย) ภาพผังเมืองเฮอันเกียว จะเห็นว่ากว้างใหญ่ไพศาลและมีระเบียบมาก (ขวา) เครื่องแต่งกายของสังคมชั้นสูงยุคเฮอัน สังเกตดูจะคุ้นหูคุ้นตากันมากในสื่อหลายอย่าง
ยุคเฮอันมีการย้ายเมืองหลวงไปที่ เฮอันเกียว ซึ่งก็คือเมืองเกียวโตในปัจจุบันนั่นเอง โดยเมืองนี้มีพื้นที่ใหญ่โตกว้างขวางมากกว่าเมืองนาระมาก ส่งผลให้ระบบการปกครองต้องยกระดับสูงขึ้น อำนาจของพระจักรพรรดิก็ถูกลดทอนลงโดยขุนนาง แต่สิ่งที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมากก็คือศิลปวัฒนธรรมและบุคคลสำคัญด้านความเชื่อ อาทิ บทประพันธ์ตำนานเกนจิ ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และอนิเมชั่นมากมายในปัจจุบัน หรือบุคคลสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของนักพรตญี่ปุ่นหรือองเมียวจิ/องเมียวโดที่ชื่อว่า อาเบะ โนะ เซเม ที่นำไปสู่ตำนานของเทพจิ้งจอกและวิชาภูตผีชิกิกามิ รวมไปถึงซุ้มประตูสีส้มแดง โทริอิ ก็มีบันทึกไว้อย่างเป็นทางการว่าถูกริเริ่มสร้างในยุคนี้ด้วย และยังมีเรื่องเล่าอันลือลั่นอย่าง ตำนานคนตัดไผ่ หรือตำนานของเจ้าหญิงจากดวงจันทร์ คางุยะ เกิดขึ้นในยุคนี้อีกด้วย
(ซ้าย) ภาพวาด อาเบะ โนะ เซเม องเมียวโดหรือนักพรตญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดผู้หนึ่ง (ขวา) อาเบะ โนะ เซเม จากเรื่อง Shounen Onmyoji
(ซ้าย) อาเบะ โนะ เซเม จากเรื่อง Nurarihyon no Mago (ขวา) อาซากุระ ฮาโอ จาก Shaman King ซึ่งในชาติกำเนิดแรกสุดของเขา เป็นองเมียวโดในยุคเฮอันเช่นกัน
(ซ้าย) โทริอิขนาดใหญ่ที่วัดอิสึคุชิม่า (Itsukushima) ที่เมืองฮิโรชิม่า เป็นโทริอิที่ตั้งกลางทะเล มีความสวยงามมากและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก (ขวา) ภาพจากเรื่อง Inari Kon Kon Koi Iroha ที่ฉากส่วนใหญ่ในเรื่องอยู่ที่ศาลเจ้าฟูชิมิอินาริ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องจำนวนโทริอิเรียงกันยาวจำนวนมาก
ภาพเขียนตำนานคนตัดไผ่หรือเจ้าหญิงจากดวงจันทร์คางุยะ
คางุยะจากภาพยนตร์ของจิบลิ ที่สร้างตามตำนานต้นฉบับด้วยคุณภาพงานสร้างระดับตำนาน
(ซ้าย) คางุยะจากเรื่อง Yaiba ที่หมายมั่นจะมายึดครองโลกด้วยเทคโนโลยีจากดวงจันทร์ (ขวา) คางุยะจาก Naruto Shippuuden ที่เป็นหนึ่งในเซียนหกวิถีที่หมายจะทำลายล้างโลก
แต่สภาวะอันวุ่นวายในปลายยุคเฮอันต่างหากที่เป็นความโดดเด่นในวงการสื่อปัจจุบันอย่างแท้จริง ก็คือสงครามการชิงอำนาจของตระกูลมินาโมโตะนั่นเอง กล่าวคือตระกูลนี้เป็นขุนศึกที่อยู่คู่บัลลังก์จักรพรรดิมาช้านาน จึงมีการพยายามจัดตั้งตระกูลใหม่ขึ้นมาคานอำนาจซึ่งกันและกัน จนเกิดความขัดแย้งและนำไปสู่การสู้รบสงครามเก็มเป และในศึกนี้เอง ก็ได้ก่อเกิดวีรบุรุษที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไทระ คิโยโมริ , มินาโมโตะ โยชิสึเนะ (อุชิวากะมารุ) และนักล่าดาบ เบงเค สุดท้ายก็นำไปสู่ระบบสังคมศักดินาในยุคถัดไป และจุดกำเนิดของ ซามูไร ก็เริ่มขึ้นจากสงครามครั้งนี้นั่นเอง
ภาพจิตรกรรมการดวลระหว่าง โยชิสึเนะ และ เบงเค ที่สะพานโกโจอันโด่งดังในประวัติศาสตร์ ก่อนที่ทั้งสองจะได้กลายเป็นสหายร่วมรบด้วยกันในสงครามเก็มเป
(ซ้าย) เกม Genji ซึ่งเป็นเกมแนวแอ็คชั่น โดยผู้เล่นจะได้รับบทตัวเอกยุคนี้หลายคน เช่น โยชิสึเนะ , เบงเค , ชิซุกะโกเซ็น เป็นต้น (ขวา) โยชิสึเนะจากเรื่อง Hoozuki no Reitetsu
โยชิสึเนะและพวกพ้องจากเรื่องเกม Yoshitsune Ki ที่ออกแบบโดย อ.โอบาตะ ผู้วาด Death Note , Bakuman , Hikaru no Go
(ซ้าย) เบงเค จากเรื่อง YAIBA (ไยบะ) ที่คืนชีพมาในปัจจุบันอีกครั้งโดยโอนิมารู
(ขวา) เบงเค จากเรื่อง Yokai Watch ที่มาในรูปแบบของภูตตนหนึ่ง
(ซ้าย) ภาพวาดของโทโมเอะ โกเซน นักรบหญิงผู้เป็นภรรยาของโยชินากะ พี่ชายของโยชิสึเนะ
(ขวา) โทโมเอะ โกเซน จาก Persona 4 ซึ่งมาในรูปแบบของเพอร์โซน่าตนหนึ่งในกลุ่มของตัวเอก
นอกจากนี้ ยังมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับจักรพรรดิโทบะ ที่ซึ่งลุ่มหลงนางสนมโฉมงามนามว่า ทามาโมะ โนะ มาเอะ จนสุขภาพทรุดโทรมไม่สนใจงานดูแลบ้านเมือง จนกระทั่งมีองเมียวจิพบว่านางคือปีศาจจิ้งจอกเก้าหางจำแลงร่างมา สุดท้ายก็สามารถพิชิตนางมารร้ายนี้ไปได้ ซึ่งคล้ายคลึงกับตำนานปีศาจจิ้งจอกในเรื่อง ฮ่องสิน ของประเทศจีนนั่นเอง
(ซ้าย) ภาพวาดของทามาโมะ โนะ มาเอะ จะเห็นว่าเป็นหญิงสาวที่มีหางจิ้งจอกอยู่เก้าหาง
(ขวา) ทามาโมะ โนะ มาเอะ จากเกม Fate Extra ด้วยรูปลักษณ์ของจิ้งจอกสาวใน Servant Class : Caster
จิ้งจอกเก้าหาง หรือ “เก้าหาง” หรือในชื่อว่า คุรามะ จากเรื่อง Naruto Shippuuden
(ซ้าย) คิวกอน มอนสเตอร์ตัวหนึ่งใน Pokemon ที่มีรูปลักษณ์เป็นจิ้งจอกเก้าหาง
(ขวา) ปีศาจจิ้งจอกเก้าหางจากเกม Okami ในเกมนี้ถูกวางบทให้มีพลังอำนาจด้านมืดทัดเทียมเทพเจ้าอีกด้วย
สำหรับยุคเฮอันนี้ ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า เป็นยุคที่จบลงด้วยการก่อเกิดบทบาทซามูไรขึ้น และซามูไรนี้เอง ก็ได้กลายเป็นจิตวิญญาณของความเป็นญี่ปุ่นที่ทั่วโลกยอมรับ ดังนั้นในอีกสองตอนต่อจากนี้ เราจะมาดูกันว่า ความเป็นซามูไรนั้น ก่อเกิดยุคสมัยที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง ติดตามกันให้ดีนะครับ
Part 3 Coming Soon…