[Scoop] “โควต้าโรงภาพยนตร์” มันจะมาเกี่ยวอะไรกับการ์ตูนได้ไง ?

6,998 views

ได้ตามข่าวบ้างหรือเปล่าที่สัปดาห์ก่อนกลุ่ม  เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์  ออกมาเรียกร้องแถลงข่าวกัน หลายคนก็คงคิดใช่มะว่าเพราะหนังไทยเห่ยๆ มันเยอะ ถ้าไม่ไหวก็ควรจะให้คนที่มีคุณภาพเข้ามาไม่ใช่เรอะ แล้วการ์ตูนมันจะเกี่ยวบ้าอะไรกันกับกลุ่มคนทำหนังไทยที่เขาออกมาโวยวายอยากจะให้โรงหนังมากันที่ให้หนังที่ดูขายไม่ได้พวกนั้นอ่ะนะ เพ้อเจ้อแล้ว

ฟังดูเพ้อเจ้อแล้วก็เกินจริงไปแหละ จูนิเบียวกันเกินไปหรือเปล่ากับเรื่องที่ต้องรับผิดชอบตัวเองมากกว่าเนี่ยนะ —เอาจริงจังแล้ว เขาไม่ได้จูนิเบียวกันหรอก หนำซ้ำเรื่องการขอโควต้าโรงภาพยนตร์นี้ ถ้าสำเร็จในจำนวนที่เมคเซนส์มันอาจจะส่งผลดีกับคนการ์ตูนด้วยก็ได้ อ้าว อย่างเพิ่งทำหน้างงแบบนั้น เรื่องนี้มันมาพัวพันกันได้ไงจะอธิบายให้ฟังกัน

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ในบ้านเราเนี่ย คนที่นำเข้าหนังมาฉายในไทยแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือบริษัทนำเข้าหนังจากต่างประเทศ คือบริษัทใหญ่ๆ ของเมืองนอกที่มาตั้งสาขาในบ้านเราเลยเนี่ยแหละ กลุ่มที่สองคือบริษัทภาพยนตร์ในประเทศไทย ให้นึกถึงกลุ่มประมาณ สหมงคล, จีดีเอช อะไรแบบนี้นะ กลุ่มสุดท้ายคือ บริษัทนำเข้าภาพยนตร์ขนาดไม่ใหญ่ ซึ่งรวมถึงกลุ่มบริษัท LC อนิเมชั่นในประเทศไทยด้วย  นี่ไง มันมาเกี่ยววข้องกันตรงจุดนี้แหละ

ตัวอย่างอนิเมชันที่กลุ่มผู้ฉายภาพยนตร์ ‘เท’ ออกจากโปรแกรมไป

แล้วไงทำไมเหรอ ทั้งสามกลุ่มมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบแบบไหนกัน ที่พอจะเล่าให้ฟังกันง่ายๆ ก็เป็นแบบนี้ กลุ่มแรกนี่คือมีสิทธิ์เลือกหนังในเครือตัวเองเข้ามาได้ก่อนยกตัวอย่างแบบ UIP, Fox, Tristarอะไรแบบนี้ กลุ่มคนกลุ่มนี้จะมีสิทธิ์เลือกหนังที่พวกเขาเองถืออยู่เป็นเจ้าแรกๆ แล้วก็มีสิทธิ์เทหนังที่ตัวเขาเองคิดว่าไม่น่าเวิร์คทิ้งได้เหมือนกัน เลยมีเหตุการณ์ที่เราได้เห็นว่าอยู่ๆ หนังเรื่องนึงที่เคยจะเข้ามาในไทยก็หายไปซะงั้นอ่ะ แล้วกลุ่มนี้ก็จะโฟกัสกำลังทรัพย์ในการโปรโมทได้อย่างเต็มที่และทางโรงภาพยนตร์ก็ยินดีที่จะฉายหนังจากกลุ่มนี้อยู่เรื่อยไป

กลุ่มที่สอง บริษัทภาพยนตร์ในประเทศ กลุ่มนี้จริงๆ ถ้าในประเทศอาจจะมีอำนาจต่อรองกับโรงภาพยนตร์สูงกว่าอีก แต่ด้วยกำลังทรัพย์ในการซื้อหนังกับเพื่อการโปรโมทนั้นสู้กลุ่มแรกไม่ได้ ในแง่มุมธุรกิจกลุ่มบริษัทพวกนี้ก็จะสร้างภาพยนตร์ไทยขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็เพื่อผลักดันดาราในบริษัทสังกัดของตนเอง ไม่ก็หยิบจับเอาดาราที่อยู่ในกระแสของช่วงนั้นมาร่วมแสดงหนังเพื่อเรียกเรตติ้งเสีย เพราะงี้กลุ่มบริษัทกลุ่มที่สองนี้ก็เลยมีอำนาจต่อรองกับโรงหนังได้ในระดับหนึ่งเพื่อให้หนังของพวกเขาได้สามารถฉายในโรงนานหน่อย

กลุ่มสุดท้าย ก็คือบริษัทนำเข้าภาพยนตร์รายเล็กๆ ลงไปอีก อย่างเช่น Documentary Club งี้ Hal Distribution งี้   แล้วก็รวมถึงบริษัทลิขสิทธิ์อนิเมชั่นในไทยทั้งหลายอย่าง DEX, Tiga, REC, Right Beyond ทางโรงหนังก็จะมองเข้ามาด้วยมุมมองว่าเป็นบริษัทสเกลเล็กอำนาจต่อรองต่ำเช่นกัน

ตัวอย่างการยึดโรงฉายที่เกิดขึ้นทั้งใน กทม. และ ต่างจังหวัด

อำนาจต่อรองต่ำแล้วเป็นยังไง เอ้า จะลองสมมุติให้ฟังเล่นๆ เวลาค่ายหนังเล็กๆ ไปนำเสนออะไรสักอย่างกับเครื่องโรงหนังใหญ่ๆ ก็จะเจอถามไถ่ทำนองว่า ‘คนรู้จักหนังขนาดไหนกัน’ ‘จะมีคนเข้ามาดูเสียเท่าไหร่เชียว’ ‘งบโฆษณาได้ขนาดไหน’ ถ้าไม่มีเงื่อนไขพิเศษอย่างการฉายเฉพาะจุด หรือมีอะไรจูงใจโรงหนังได้มากพอ หนังของค่ายเหล่านี้ก็จะเจอปัดให้เข้าฉายแบบจำนวนน้อยนิดแบบที่เกิดขึ้นกับการ์ตูนหลายเรื่องที่คนดูเคยเจอกัน แบบอยากไปดู นารูโตะก็จะมีรอบอยู่สองสามรอบต่อวันแถมยังเป็นรอบเช้าโด่ง สิบโมง สิบเอ็ดโมง หรือถ้าแบบวันพีซที่รอบฉายเยอะก็มีกำหนดฉายอยู่ในโรงแค่สัปดาห์เดียวเท่านั้น หรืออนิเมชั่นน้ำดีแบบอนิเมชั่นของทางจิบลิไปฉายชนกับพวกหนังเฟรนไชส์ดังรอบหนังก็จะถูกทุ่มไปให้หนังเฟรนไชส์เสียมากกว่า

ปัญหาแบบนี้นี่ล่ะที่ทางกลุ่ม เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์  ออกมาเรียกร้องกัน แล้วก็ในแถลงการของทางกลุ่มเขาก็ไม่ได้บอกว่าจะเรียกร้องให้เฉพาะส่วนของหนังไทยแนวอื่นเท่านั้น เขายังพาดรวมมาถึงหนังของชาติอื่นๆ แบบหนังฝรั่งเศส เกาหลี กันด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ที่ดูไม่เกี่ยวกันเลยกับฝั่งการ์ตูน ก็กลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างมากอยู่ดี ค่อนข้างแน่ใจว่าเขาไม่ตกลงกันตามที่ร้องเรียนเป๊ะๆ หรอก (เงื่อนไขในตอนนี้ที่เขาเรียกร้องกันคือการขอให้การเทรอบสูงสุดของหนังดังให้ไม่เกิน 20% ของจำนวนโรงที่มีฉายอยู่ กับการกำหนดวันขั้นต่ำในการฉายหนังแต่ละเรื่องให้อยู่ที่ 14 วัน) แต่ถ้ามันสำเร็จมันจะดีขึ้นในแง่ใดแง่หนึ่งอยู่ดี อย่างน้อยที่สุดคนดูการ์ตูนก็อาจจะไม่ต้องรีบร้อนออกจากบ้านหรือออฟฟิศไปยังโรงหนังในรอบที่มันฉายการ์ตูนอยู่รอบเดียว

แล้วถ้ามันยังไม่ไปไหน หรือถ้ามันมีการปรับเปลี่ยนแต่โรงหนังกลับขอขึ้นค่าตั๋วแทนคนชอบการ์ตูนควรทำไง คำตอบก็คงไม่มีอะไรมากนอกจากว่า ถ้าชอบอะไรก็เสียเงินให้สิ่งนั้นเถอะ เพื่อให้วงการมันได้อยู่ต่อ เพื่อให้คนทำงานมีกำลังใจ และเพื่่อให้ความพัฒนาการของวงการที่หลายคนรอคอยจะได้มาถึงเสียที

Source: Manager, Joblo, Twitter KoratCafe