นักอ่านนิยาย ไลท์โนเวล หรือมังงะทั้งหลาย เคยสงสัยหรือไม่ ว่านักเขียนผลงานในดวงใจของท่านนั้น จริง ๆ แล้วเขามีเบื้องหลังของผลงานอย่างไร เขาต้องใช้ระบบความคิดแบบใดที่จะรังสรรค์ผลงานเหล่านั้นออกมาได้บ้าง หรือว่ากันตรง ๆ ก็คือ เขาต้องใช้ชีวิตแบบไหนถึงผลิตงานแบบที่เราหลงใหลออกมากันแน่นะ?
มีไม่บ่อยครับที่นักเขียนญี่ปุ่นจะได้มีนิทรรศการ “เฉพาะผลงานของตนเอง” ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง โดยที่นิทรรศการนั้น จะตอบโจทย์ทั้งสิ่งที่แฟน ๆ ผลงานอยากเห็น รวมถึงเปิดเผยความเป็นตัวตนของนักเขียนนั้น ๆ ให้เราได้เห็นภาพมากขึ้น ซึ่งในโอกาสนี้เอง เราก็จะนำทุกท่านไปสู่นิทรรศการของนักเขียนนิยายเจ้าของผลงานเด่นดังมากมายหลายเรื่อง ผู้ใช้นามปากกาว่า…
NisiOisiN
นิชิโอะอิชิน
บางท่านอาจจะพอคุ้นชื่อของนักเขียนท่านนี้กันอยู่บ้าง แต่ท่านใดที่นึกไม่ออก หากเอ่ยว่า เขาคือผู้รังสรรค์ต้นฉบับนิยายของซีรี่ส์ปกรณัมฯ เช่น ปกรณัมของเหล่าภูต (Bakemonogatari) หรือ ปกรณัมของตําหนิ (Kizumonogatari) หรือผลงานอื่น ๆ อาทิ Medaka Box, ตำนานรักดาบเทวะ (Katanagatari) หรือ บันทึกกันลืมของยอดนักสืบเคียวโกะ (Okitegami Kyoko no Biboroku) และอื่น ๆ อีกมากมาย ย่อมต้องมีสักเรื่องที่คอการ์ตูนอาจจะเคยได้สัมผัสในรูปแบบอนิเมชั่นกันมาก่อนไม่มากก็น้อย
โดย อ.NisiOisiN (จากนี้จะขอเรียกว่า นิชิโอะอิชิน) ท่านนี้ ริเริ่มผลงานนิยายมาตั้งแต่ปี 2002 จากนิยายชุด Zaregoto Series ในชื่อเล่มแรก Kubikiri Cycle เรื่อยมาจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างโดยเฉพาะซีรี่ส์ปกรณัมฯ เมื่อปี 2005 และปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีผลงานเขียนเล่มใหม่ ๆ หรือเรื่องใหม่ ๆ ออกสู่ท้องตลาดอย่างไม่หยุดยั้ง และด้วยผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเชิงภาษาศิลป์ที่มีลูกเล่นหลากหลาย สไตล์การเล่าเรื่องที่มีความซับซ้อนลุ่มลึกในบทสนทนา ผ่านไอเดียการเขียนเรื่องที่ต่างคอนเซ็ปต์กันไปที่มีทั้งแนวย้อนยุคแฟนตาซี เรื่องลี้ลับระทึกขวัญ ไปจนถึงหวานอมขมกลืนบนเนื้อเรื่องแนวสืบสวน
ซึ่งด้วยผลตอบรับที่ดีและเป็นที่จดจำนี้เอง ในปี 2017 นี้ ทางอาจารย์นิชิโอะอิชินจึงได้มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของตนเองในชื่อ NisiOisiN Daijiten ที่โตเกียวเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม – 7 สิงหาคม และโอซาก้า 9-21 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยคำว่า Daijiten นั้น มีความหมายว่า “พจนานุกรมเล่มใหญ่” ซึ่งก็เป็นคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการครั้งนี้อีกด้วย
จะเป็นอย่างไรนั้น มาชมกันเลยครับ
(อนึ่ง พื้นที่หลายส่วนในนิทรรศการนั้นไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ เนื้อหาบางส่วนจึงจะมีเฉพาะคำอธิบายนะครับ)
ในนิทรรศการนี้ก็สมชื่อ “พจนานุกรมเล่มใหญ่” ครับ เพราะพื้นที่ในนิทรรศการนั้น มีการจัดคอนเท้นท์เรียงตามพจนานุกรมญี่ปุ่นเลยทีเดียว ใครที่เรียนภาษาญี่ปุ่น อาจจะคุ้นเคยกับการเรียงอักษรฮิรากานะ วรรค あ、か、さ、た、な ไปจนถึงวรรค わ、ん (คล้าย ๆ เรียง ก-ฮ ในภาษาไทยเรา) ซึ่งนิทรรศการนี้ ก็จัดแสดงด้วย “คีย์เวิร์ด” ที่เรียงตามตัวอักษรลำดับดังกล่าวนั่นเองครับ
เช่น โซนจัดแสดงแรกสุด ตามอักษรญี่ปุ่นคือวรรค あ (อ่านว่า อะ) คีย์เวิร์ดแรกสำหรับนิทรรศการนี้ก็ถูกตั้งมาเพื่อต้อนรับผู้เข้าชมเลยทีเดียวด้วยคำว่า あいさつ (aisatsu) แปลว่า “คำทักทาย”
แผนผังนิทรรศการที่จัดในโตเกียว
มุม aisatsu นี้ก็สมตามชื่อครับ คือเป็นโซนจัดแสดงเกี่ยวกับตัวอาจารย์นิชิโอะอิชินเพียว ๆ เลย ตั้งแต่ประวัติส่วนตัว ตัวอย่างผลงานที่ร่วมกับนักวาดต่าง ๆ และส่วนที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ
“ตัวอาจารย์นิชิโอะอิชินั้น ผลิตผลงานออกมาได้วันละกว่า 20,000 ตัวอักษร”
โดยในมุมจัดแสดงนี้ มีตารางการทำงานต่อวันของอาจารย์ไว้อย่างละเอียด โดยในวันทั่วไป ตัวอาจารย์จะเขียนงาน 4 ช่วงเวลาต่อวัน ช่วงละ 2 ชั่วโมง โดยในสองชั่วโมงนั้น จะเขียนผลงานอย่างต่อเนื่องไม่หยุดจนได้เนื้องานประมาณ 5,000 ตัวอักษร แล้วจึงคั่นด้วยการพักผ่อน รับประทานอาหาร หรือนอนกลางวัน
ส่วนเวลาที่อาจารย์ออกท่องเที่ยว หรือเดินทางเก็บข้อมูลในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ จะลดช่วงเวลาทำงานเหลือ 2 ช่วงต่อวัน ก็คือจะผลิตงานวันละ 10,000 ตัวอักษร โดยเขียนงานเฉพาะช่วงตื่นนอนและก่อนนอนในแต่ละวันนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีตารางระบุว่า ใน 1 เดือนนั้น จะมีเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ที่อาจารย์มักจะไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และประมาณครึ่งสัปดาห์ที่จะไปเที่ยวต่างจังหวัดในญี่ปุ่น และอีกสัปดาห์หนึ่งจะเป็นช่วงที่ติดต่องานกับสำนักพิมพ์ ปรับแก้และส่งงาน ซึ่งก็นับว่าเป็นระบบเวลางานส่วนตัวของอาจารย์ที่ดูเป็นระเบียบและน่าสนใจมากทีเดียวครับ
แผนผังนิทรรศการที่จัดในโอซาก้า
สำหรับในโซนถัดมาตามตัวอักษรวรรค か (อ่านว่า คะ) ก็จะนำเสนอผลงานเรื่อง Katanagatari หรือ ตำนานรักดาบเทวะ ผลงานนิยายที่ได้สร้างเป็นอนิเมชั่น เรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ของ “ผู้ใช้ดาบ” ที่มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป โดยที่มีปรัชญาแฝงว่าคำว่าดาบนั้น ไม่ได้หมายถึงอาวุธด้ามคมเพียงอย่างเดียว เช่น ชิจิกะตัวเอกของเรื่องนั้น มีวิชาต่อสู้แบบประชิดตัวด้วยร่างกาย ซึ่งถูกเรียกเป็นวิชาดาบรูปแบบหนึ่งเช่นกัน โดยในโซนนี้จะมีการจัดแสดงทั้งภาพสีที่สวยงามจากนิยายทุก ๆ เล่ม รวมถึงคอนเซ็ปของดาบแต่ละเล่มที่ปรากฎในเรื่อง รวมไปถึงจุดร่วมกับงานอนิเมชั่น
ในโซนถัด ๆ มาก็เช่นเดียวกันครับ อย่างโซนวรรค さ (ซะ) ก็จะมีการนำเสนอซีรี่ส์ Zaregoto ผลงานชิ้นแรกของอาจารย์อย่าง Kubikiri Cycle คำอธิบายคอนเซ็ปต์ของเรื่องราวในแต่ละเล่ม ยังมีผนังที่จะฉาย Spot Light interactive ของซีรี่ส์นี้ที่นำเสนอคีย์เวิร์ดเด่น ๆ และคำใบ้ในเนื้อเรื่องด้วย รวมไปถึงมุมของ Saikyou Series ที่นำเสนอภาพเขียนขนาดใหญ่ที่สวยงามไม่แพ้กัน
ในโซนวรรค た (ทะ) ก็จะมีทั้งคำอธิบายคีย์เวิร์ด 旅 (ทะบิ – การเดินทาง) หรือนำเสนอ Densetsu Series และติด ๆ กันอย่างวรรค な (นะ) ที่นำเสนอ Ningen Series โดยที่ถัดมาในโซนวรรค は (ฮะ) จะค่อนข้างโดดเด่นหน่อยเพราะมีทั้งมุมซีรี่ส์ Boukyaku Tantei หรือนักสืบขี้ลืม ที่ในชื่อหนังสือว่า บันทึกกันลืมของยอดนักสืบเคียวโกะ (Okitegami Kyoko no Biboroku) ที่หลาย ๆ ท่านเป็นแฟนทั้งฉบับนิยายและละครซีรี่ส์นั่นเอง
ไม่เพียงเท่านั้นในแอเรียวรรคฮะ ยังมีไฮไลท์ของ “ฉากต่อสู้” (Battle Scene バトルシーン) ที่เป็นโมชั่นกราฟิกนำเสนอฉากต่อสู้ระหว่าง “อารารากิ” และน้องสาว “คาเร็น” ที่อ้างอิงมาจากอนิเมชั่น แต่นำเสนอด้วยลูกเล่นของตัวอักษร ที่ถือว่าเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของผลงานอาจารย์นิชิโอะอิชินที่ชอบใส่ลูกเล่นของตัวอักษรและมุกภาษาญี่ปุ่นมากมายนั่นเองครับ ซึ่งลองชมคลิปวิดีโอฉากดังกล่าวได้ที่นี่
อีกจุดน่าสนใจในวรรคนี้คือโซน Bunpu ที่นำเสนอเกี่ยวกับจุดเด่นของตัวละครจากผลงานแต่ละเรื่องของอาจารย์ในรูปแบบกราฟ ว่าเรื่องไหนมีเอกลักษณ์ในด้านใด ตัวละครหลักของแต่ละเรื่องมีจุดเด่นด้านไหน ซึ่งจะพบว่าตัวละครในแต่ละเรื่องนั้นมีความแตกต่างกันมากในหลาย ๆ ความหมาย สื่อได้ว่า อ.นิชิโอะอิชินนั้น มีความบันเทิงในการสร้างคาแรกเตอร์ที่แตกต่างมาก ๆ ในผลงานแต่ละเรื่องอย่างน่าอัศจรรย์
สำหรับโซนวรรค ま (มะ) ก็เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์หนึ่งของแฟน ๆ เช่นกันก็คือผลงานเรื่อง Medaka Box ที่อาจารย์ได้เป็นผู้แต่งเรื่องให้กับมังงะที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Shounen Jump ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเป็น mass product สูง แต่ผลงานชิ้นนี้ก็ยังไม่ทิ้งเอกลักษณ์อันล้ำลึกของตัวละครและเรื่องราว รวมไปถึงผลงานสร้างชื่อที่โด่งดังที่สุดอย่างซีรี่ส์ปกรณัมฯ (Monogatari Series) ที่นำเสนอในแอเรียมุมกว้างพร้อมคีย์เวิร์ดอย่างละเอียด (ซึ่งน่าเสียดายที่ทั้งหมดนั้นไม่สามารถถ่ายภาพมาได้)
ในมุมอักษรท้ายสุดอย่างวรรค わ (วะ) นั้น มีมุมของ Work Style ของอาจารย์ ที่เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์มากก็คือ “Ghost Typing” คือแป้นพิมพ์ที่จะโชว์การเขียนงานของอาจารย์นิชิโอะอิชินกันแบบสด ๆ (คือแป้นพิมพ์จะเคาะอักษรเขียนนิยายลงบนหน้าจอให้ดูโดยอัตโนมัติ) ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าตัวอาจารย์นั้นพิมพ์งานเร็วแค่ไหนอีกด้วยครับ
ทั้งนี้ แม้ว่ามุมจัดแสดงส่วนใหญ่จะห้ามถ่ายภาพ แต่ไฮไลท์ดี ๆ ที่เราสามารถบันทึกภาพได้ก็ยังมีอยู่ครับ โดยระหว่างที่เราเดินชมมุมจัดแสดงตามตัวอักษรนั้น ผนังอีกด้าน จะเป็นวอลเปเปอร์ขนาดยาวกว่า 20 เมตร ถ่ายทอดเป็นภาพตัวละครหลักของผลงานเขียนของอาจารย์ทุกเรื่องแบบจัดเต็มสวยงาม (ขนาดตัวละครแทบจะ 1:1 กับตัวมนุษย์จริง) ซึ่งจุดนี้ผู้เที่ยวชมสามารถถ่ายภาพได้อย่างอิสระ จะถ่ายเก็บบรรยากาศเฉย ๆ หรือจะเซลฟี่ก็สามารถทำได้เต็มที่เลยครับ
ถัดมา ก่อนท้ายสุด ก็จะเป็นมุมจัดแสดง “ไทม์ไลน์” การเขียนผลงานแต่ละเรื่องของอาจารย์นิชิโอะอิชิน ตั้งแต่เล่มแรกเมื่อปี 2002 จนถึงผลงานชิ้นล่าสุดในปี 2017 และยังมีการ “นับจำนวนอักษร” ทั้งหมดที่อาจารย์เขียนขึ้นมาให้ได้เห็นกันชัด ๆ อีกด้วย !
ในปีแรกนั้น ผลงานรวมของอาจารย์มีจำนวนปาเข้าไปกว่า 571,569 (ห้าแสนเจ็ดหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยหกสิบเก้า) ตัวอักษรแล้ว และที่น่าทึ่งก็คือ จนถึงปัจจุบัน ผลงานรวมของอาจารย์นั้นมีจำนวนอักษรรวมมากถึง…
15,066,629 ตัว !!!
(สิบห้าล้านหกหมื่นหกพันหกร้อยยี่สิบเก้าตัวอักษร)
…นับว่าเป็นนักเขียนที่น่าทึ่งจริง ๆ ครับ
และแอเรียสุดท้ายก่อนจะออกไปด้านนอกนิทรรศการ จะมีจอภาพนำเสนอหน้ากระดาษที่เต็มไปด้วยใจความยาวเหยียด ที่จริง ๆ แล้วเป็นการบอกเล่าถึงชื่อผลงานต่าง ๆ ที่ผ่านมาของอาจารย์ นำเสนอวิธีใส่คำใบ้ในหน้าหนังสือ และท้ายที่สุดก็คือการใส่คำใบ้เป็นคำขอบคุณผู้เข้าชมในนิทรรศการนี้นั่นเองครับ
ซึ่งเมื่อออกจากแอเรียนี้ เราก็จะได้ “เปย์” กับสินค้ามากมายที่วางขายอยู่นั่นเอง มีอะไรบ้างนั้น มาชมภาพกันเลยจ้า
ป้ายผ้าน้องปู และชิโนบุขนาดใหญ่
ฟิกเกอร์น้องปูและชิโนบุไซส์มินิ
และในท้ายที่สุดนี้ สินค้าชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ หนังสือ Pamphlet ของนิทรรศการนี้ ที่เรียกได้ว่ายกทั้งนิทรรศการมาใส่ไว้ในเล่มเดียวเลยครับ โดยจะมีทั้งภาพ และคำอธิบายที่นำมาจัดแสดงทั้งหมด อยู่ในทุก ๆ หน้าหนังสือนี้ครบเลย (และแน่นอนว่าเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วน)
และนี่คือทั้งหมดของนิทรรศการ NisiOisiN Daijiten ที่จัดขึ้นในโอซาก้าเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2017 ที่ผ่านมาครับ เรียกได้ว่าเป็นนิทรรศการที่เหมาะสำหรับแฟนผลงานของอาจารย์อย่างยิ่ง และน่าประทับใจที่เราได้สัมผัสถึง “ตัวตนของผลงาน” แต่ละชิ้นได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น และมองเห็นแนวคิดหลาย ๆ อย่างของอาจารย์ที่นอกเหนือไปจากผลงานบนหน้าหนังสือ
แม้ว่า ณ เวลานี้ช่วงเวลาของนิทรรศการจะสิ้นสุดหมดแล้ว แต่เราก็เชื่อว่า นักเขียนระดับสุดยอดอย่างอาจารย์นิชิโอะอิชิน ยังต้องมีผลงานใหม่ ๆ และอาจจะได้มีนิทรรศการใหม่ ๆ ที่ล้ำกว่านี้ในอนาคตอีกครั้งอย่างแน่นอนครับ
เว็บไซต์หลัก : exhibition.ni.siois.in