หนังก็มีรางวัลออสการ์, ลูกโลกทองคำ เพลงฝรั่งก็มีรางวัลแกรมมี่ (ที่ไม่ใช่ค่ายเพลงนะ) อนิเมก็ยังพอจะมีรางวัลอย่าง Anime Grand Prix ให้เห็น แล้วหนังสือการ์ตูนล่ะมีรางวัลในญี่ปุ่นแจกให้กับผลงานหนังสือการ์ตูนที่ยอดเยี่ยมกับเขาบ้างไหม
ไม่ต้องคิดกันนานเพราะขอเฉลย ณ จุด ๆ นี้เลยว่ารางวัลที่จะมอบให้กับการ์ตูนนั้นมีอยู่ไม่น้อยเลยล่ะ นักอ่านการ์ตูนหลายคนน่าจะคุ้นตาบ้างเพราะโฆษณาในการ์ตูนบางเล่มก็มีลงไว้ว่า “การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับรางวัลมา” บทความชุดนี้ของเราเลยจะพามาดูว่ารางวัลการ์ตูนที่ออกไปในลักษณะการ์ตูนยอดเยี่ยมมีรางวัลไหนที่น่าสนใจกันบ้าง แล้วแต่ละรางวัลมีรายละเอียดคร่าว ๆ อย่างไรบ้าง
Bungeishunju Manga Award เริ่มจัดงานแจกรางวัลครั้งแรกในปี 1955
รางวัลสายการ์ตูนระดับเก่าแก่ที่ถูกจัดโดย Bungeishunju สำนักพิมพ์เป็นสายวรรณกรรมและหนังสือสะท้อนสังคม ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1923 ส่งผลให้รางวัลสำหรับมังงะเจ้านี้ ตั้งใจมอบรางวัลให้การ์ตูนแนวเสียดสีสังคม ซึ่งอาจจะเป็นแก๊ก 4 ช่องจบ หรือ แก๊กช่องเดียวจบ หรือไม่ก็ต้องเป็นงานระดับมาสเตอร์พีซ อาจะเพราะตัดสินได้ยากว่าผลงานเรื่องไหนเป็นงานสะท้อนสังคมญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ทำให้การ์ตูนหลายเรื่องที่ได้รับรางวัลนี้มาตั้งแต่ปี 1955 ไม่เป็นที่รู้จักของคนนอกประเทศมากนัก และอาจจะเป็นเพราะสไตล์รางวัลที่หาเรื่องเหมาะสมยากทำให้รางวัลนี้ถูกแจกครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2001

ตัวอย่างหนังสือการ์ตูนที่เคยได้รับรางวัลนี้ – Buddha ของ เท็ตสึกะ โอซามุ
Shogakukan Manga Award เริ่มจัดงานแจกรางวัลครั้งแรกในปี 1956

หนึ่งในรางวัลสำหรับหนังสือการ์ตูนที่เก่าแก่ที่สุด รางวัลรายปีที่จัดโดยสำนักพิมพ์ Shogakukan สำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ที่เป็นผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Shueisha ก่อนที่สำนักพิมพ์นี้จะไปก่อตั้ง Hakusensha อีกทีหนึ่ง ทำให้กลุ่มสำนักพิมพ์นี้ถูกเรียกว่า Hitotsubashi Group เพราะงั้นอย่าแปลกใจทำไมสองเจ้าหลังถึงไม่มีรางวัลใหญ่ประจำปีแบบนี้
Shogakukan Manga Award จะแจกรางวัลให้กับการ์ตูนที่ทำการตีพิมพ์ต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา เดิมทีเคยมีรางวัลใหญ่รางวัลเดียว ก่อนจะแยกย่อยเป็นหมวด การ์ตูนทั่วไป, การ์ตูนสายโชเน็น, การ์ตูนสายโชโจ และ การ์ตูนสำหรับเด็ก ทีหลัง ว่ากันว่าตัวรางวัลค่อนข้างจะลำเอียงให้ผลงานที่ Shogagukan เป็นผู้ผลิต แม้ว่าหลัง ๆ จะมีผลงานของสำนักพิมพ์อื่นสลับสับเปลี่ยนเข้ามาชนะบ่อยครั้งขึ้น แต่ถ้าดูจากรายชื่อผู้ได้รางวัลแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการ์ตูนที่ได้รับรางวัลในแต่ละปีเป็นการ์ตูนที่ดังจริง ๆ
ตัวอย่างหนังสือการ์ตูนที่เคยได้รับรางวัลนี้ – Bleach เทพมรณะ(์NED), Nana(Bongkoch), 7 Seeds (Bongkoch)
Japan Cartoonists Association Award เริ่มจัดงานแจกรางวัลครั้งแรกในปี 1972

สองรางวัลแรกที่เล่าถึงนั้นเป็นการแจกรางวัลจากทางสำนักพิมพ์ ส่วนรางวัลนี้ถูกขึ้นโดย สมาคมนักเขียนการ์ตูนของญี่ปุ่น รางวัลเปิดกว้างให้กับนักเขียนทุกคนที่ส่งผลงานเข้ามาร่วมแข่งขันแบบไม่จำกัดแนวหรือค่าย เป้าประสงค์เดิมของงานนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนวงการหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่เติบโตขึ้นในช่วงยุค 1970 มาในปัจจุบันออกจะเป็นการให้เกียรติแด่ผลงานและนักเขียนที่สร้างผลงานอันโดดเด่นออกมาให้โลกได้ติดตามเสียมากกว่า
ตัวอย่างหนังสือการ์ตูนที่เคยได้รับรางวัลนี้ – 20th Century Boys & 21st Century Boys (NED), One Piece (SIC), Golgo 13
Kodansha Manga Award เริ่มจัดงานแจกรางวัลครั้งแรกในปี 1977

อีกหนึ่งรางวัลจากสำนักพิมพ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง Kodansha ในปัจจุบันแต่ละปีจะมีรางวัลสามสาขา ประกอบด้วย การ์ตูนทั่วไป, การ์ตูนสายโชเน็น และการ์ตูนสายโชโจ ด้วยความที่เป้าหมายของรางวัลนี้เป็นการแจกรางวัลให้กับผลงานในปีที่ผ่านมาใกล้เคียงกับ Shogakukan Manga Award ความใกล้เคียงนั้นรวมถึงปัญหาที่ว่าผลงานของสำนักพิมพ์เจ้าบ้านมักจะมีโอกาสได้รับรางวัลมากกว่าเจ้าอื่น ๆ เช่นกัน แล้วก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าเรื่องที่ได้รับรางวัลนั้นเป็นเรื่องที่โดดเด่นในทั้งในฝั่งของสำนักพิมพ์เจ้าบ้านและฝั่งผู้อ่านหนังสือการ์ตูน
ตัวอย่างหนังสือการ์ตูนที่เคยได้รับรางวัลนี้ – Black Jack หมอปีศาจ (VBK), 3 x 3 Eyes (VBK), Q.E.D. อย่างนี้ต้องพิสูจน์ (VBK)
Seiun Award เริ่มจัดงานแจกรางวัลครั้งแรกในปี 1970 เริ่มแจกรางวัลสาขา Best Comic ปี 1978

ความจริงแล้ว Seiun Award ไม่ใช่รางวัลมังงะโดยตรงแต่เป็นรางวัลสำหรับผลงานแนวไซไฟ ที่จัดงานโดย สมาพันธ์แฟนกรุ๊ปบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น (Nihon Fan Group Rengo Kaigi) ตัวรางวัลถูกแบบออกเป็นหลายสาขา ทั้งนิยายภาษาญี่ปุ่น นิยายภาษาต่างประเทศ รวมถึงสาขา การ์ตูนยอดเยี่ยม (Best Comic) ที่เริ่มแจกรางวัลสาขานี้ตั้งแต่ปี 1978 ผู้มีสิทธิ์ได้รางวัลนี้ ไม่ได้มีเพียงชาวญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ผลงานต่างประเทศก็มีโอกาสได้รับรางวัลนี้เช่นกัน
ตัวอย่างหนังสือการ์ตูนที่เคยได้รับรางวัลนี้ – Cardcaptor Sakura (VBK), Fullmetal Alchemist แขนกลคนแปรธาตุ (SIC), ปรสิต (SIC)
Nihon SF Taisho Award เริ่มจัดงานแจกรางวัลครั้งแรกในปี 1980

อีกหนึ่งรางวัลสำหรับผลงานแนวไซไฟ และไม่ใช่รางวัลสำหรับหนังสือการ์ตูนโดยตรง ส่วนที่แตกต่างกับ Seiun Award ก็คือรางวัลนี้เป็นถูกจัดขึ้นโดย สมาพันธ์นักเขียนบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น (Science Fiction and Fantasy Writers of Japan) ที่จะทำการเลือก หนัง, ละคร, นิยาย หรือ การ์ตูน แนวไซไฟที่โดดเด่นของปีเป็นผู้ได้รับรางวัล
อาจจะเพราะเป็นการคัดเลือกของนักเขียนสายไซไฟโดยตรงทำให้ผลงานที่ได้รับรางวัลนี้มักจะมีเนื้อเรื่องที่หนักแน่นเป็นเอกลักษณ์ และอาจจะไม่โดนใจคนทั่วไปเท่าใดนัก
ตัวอย่างหนังสือการ์ตูนที่เคยได้รับรางวัลนี้ – Wombs ปฏิบัติการข้ามมิติ (SIC)
Tezuka Osamu Cultural Prize เริ่มจัดงานแจกรางวัลครั้งแรกในปี 1997

หนังสือพิมพ์ Asahi Shimbun เป็นผู้ก่อตั้ง ‘รางวัลวัฒนธรรม เท็ตสึกะ โอซามุ’ ในปี 1997 เพื่อเป็นการอุทิศให้กับบุคลากรที่กระทำการมากมายให้หนังสือการ์ตูนโดดเด่นจนกลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะตัวของประเทศญี่ปุ่นขึ้นมา ปัจจุบันรางวัลจะถูกแยกย่อยเป็นสี่สาขาคือ รางวัลใหญ่ ที่จะมอบให้ผลงานที่โดดเด่นในรอบปี, รางวัลนักเขียนหน้าใหม่ (อาจจะฟังดูสับสนเล็กน้อยแต่ ‘หน้าใหม่’ ในรางวัลนี้อาจจะไม่ใช่ผลงานเปิดตัวของนักเขียนท่านนั้นก็ได้), รางวัลเรื่องสั้นยอดเยี่ยม และ รางวัลพิเศษที่มักจะมอบให้บุคลากรหรือหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมมังงะ
รางวัลนี้ยังคนละรางวัลกับ ‘ถ้วยเท็ตสึกะ’ ที่เป็นรางวัลสำหรับนักวาดการ์ตูนหน้าใหม่ของสำนักพิมพ์ Shueisha อีกด้วย #โปรดอย่าสับสน
ตัวอย่างหนังสือการ์ตูนที่เคยได้รับรางวัลนี้ – Doraemon (NED), Vagabond (NED), Pluto ตามล่านักฆ่าแอนดรอยด์ (NED)
Japan Media Arts Festival เริ่มจัดงานแจกรางวัลครั้งแรกในปี 1997

งานแจกรางวัลด้านวัฒนธรรมที่จัดขึ้นโดย Agency for Cultural Affairs (หน่วยงานวัฒนธรรมแห่งรัฐบาลญี่ปุ่น) เป้าประสงค์จริง ๆ ของตัวงานออกจะเป็นเชิงเผยแพร่วัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นให้คนในและคนนอกประเทศได้รู้จักผลงานเหล่านี้มากขึ้น
ตัวรางวัลถูกแบ่งออกเป็นหลายสาขา ซึ่งสาขาหนังสือการ์ตูนนั้นถูกจัดไว้ตั้งแต่งานถูกจัดครั้งแรก จากนั้นรางวัลก็จะแยกย่อยเป็น แกรนด์ไพรซ์ (Grand Prize) หรือรางวัลใหญ่ กับ เอกเซเลนซ์ ไพรซ์ (Excellence Prize) และ รางวัลให้กำลังใจสำหรับศิลปินหน้าใหม่ (New Face Award)
ผลงานที่ได้รับรางวัลนอกจากจะเป็นงานที่มีชื่อแล้วก็มักจะเป็นงานที่มีแนวทางการนำเสนอชัดเจนระดับที่แค่เห็นลายเส้นก็สะดุดตา แถมเนื้อเรื่องก็เด่นเด้งจนโดนใจคนที่อ่านอีกด้วย
ตัวอย่างหนังสือการ์ตูนที่เคยได้รับรางวัลนี้ – ยูเมเนส จอมคนพลิกโลก (SIC), Vinland Saga สงครามคนทมิฬ (SIC), โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ Jojolion (NED)
Manga Taisho เริ่มจัดงานแจกรางวัลครั้งแรกในปี 2008

ความโดดเด่นของรางวัลนี้รายปีเจ้านี้ก็คือการตั้งเป้ามอบรางวัลให้ผลงานที่มีหนังสือการ์ตูนที่มีฉบับรวมเล่มน้อยกว่า 8 เล่ม เพื่อให้การ์ตูนเรื่องใหม่ ๆ ได้เป็นทีรู้จักของคนอ่านทั่วไป ดังนั้นรายชื่อผู้เข้าชิงหรือแม้แต่ผู้ชนะในบางปีจึงฉีกออกจากรางวัลอื่น ๆ และการ์ตูนเหล่านั้นก็มักจะเป็นการ์ตูนที่ผู้คนจดจำได้ในระยะยาว และมักจะถูกดัดแปลงเป็นสื่อประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอนิเม, หนังคนแสดง หรือ ซีรี่ส์คนแสดง
ตัวอย่างหนังสือการ์ตูนที่เคยได้รับรางวัลนี้ – Silver Spoon ซิลเวอร์สปูน (SIC), Otoyomegatari เจ้าสาวแห่งทางสายไหม (SIC), จิฮายะ / Chihaya Furu จิฮายะ (Bongkoch)
Sugoi Japan Award เริ่มจัดงานแจกรางวัลครั้งแรกในปี 2015

การเติบโตของวัฒนธรรมโอตาคุทำให้หนังสือพิมพ์ Yomiuri Shinbun ของประเทศญี่ปุ่น ต้องจัดรางวัลใหม่แยกย่อยออกมาสำหรับผลงานในสาย มังงะ, อนิเม, ไลท์โนเวล และ นิยายแนวบันเทิงคดี (Entertainment Novel) โดยเฉพาะ และรางวัลนี้ยังเป็นการเปิดรับคะแนนโหวตโดยตรงจากผู้อ่าน ต่างจากรางวัลอื่นที่จะมีคณะกรรมการเป็นผู้ตัดสิน ผู้ชนกับผู้ได้เข้าชิงในแต่ละปีจึงไม่ได้เป็นเพียงผลงานที่โดดเด่น แต่ยังการสะท้อนให้เห็นว่าผลงานเหล่านั้นเป็นผลงานที่ได้รับความนิยมจริง ๆ ในปีที่แจกรางวัลด้วย
ตัวอย่างหนังสือการ์ตูนที่เคยได้รับรางวัลนี้ – Attack on Titan ผ่าพิภพไททัน (VBK), One Punch Man (NED), My Hero Academia (SIC)
รางวัลทั้งหมดที่เอามาบอกเล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของที่มอบให้ผลงานการ์ตูนในญี่ปุ่นเท่านั้น และครั้งต่อไป เราจะมาเล่าให้ฟังกันต่อว่า ผลงานที่ขึ้นชื่อว่า ‘ได้รับรางวัล’ นอกเหนือจากตัวอย่างที่เรายกมาให้ดูเป็นน้ำจิ้ม ว่ามีเรื่องไหนอีกบ้างที่ได้ตีพิมพ์ในประเทศไทย ซึ่งบางทีคุณอาจจะเคยมองข้ามการ์ตูนเหล่านั้นมาก่อนก็ได้นะ