[Scoop]มารู้จักกับศาสตร์แห่งราเม็งไปกับ Ramen Daisuki Koizumi-san โคอิสึมิซังกับราเม็งชามโปรด!

2,426 views

มีแฟนการ์ตูนคนไหนไม่เคยทานราเม็งบ้างไหมยกมือขึ้นหน่อย!? เชื่อว่าในปัจจุบันคงจะมีแฟนการ์ตูนน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักอาหารจานเส้นชนิดนี้ แต่ใช่ว่าที่เรียกว่า “ราเม็ง” นี่มันจะเป็น “ราเม็ง” แบบเดียวกันไปหมด

และเนื่องในโอกาสที่การ์ตูนเรื่อง Ramen Daisuki Koizumi-san หรือในชื่อไทยคือ โคอิสึมิซังกับราเม็งชามโปรด (ลิขสิทธิ์โดยสำนักพิมพ์ DEXPRESS) ได้ถูกสร้างเป็นอนิเมะแล้ว ในครั้งนี้ทางทีมงาน Akibatan จึงจะขอพาเพื่อน ๆ ดำดิ่งลงไปในชามราเม็งเพื่อเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ที่ซ่อนอยู่ภายในชามราเม็งว่ามันมีอะไรซ่อนอยู่ภายในนั้นบ้าง มันมีกี่ประเภท และมันมีที่มาจากไหนกันบ้าง ว่าแล้วก็ตามไปลุยกันเลยดีกว่าครับ!

ราเม็ง คืออะไร?

ราเม็ง (ラーメン , らーめん หรือ Ramen) คือบะหมี่น้ำของญี่ปุ่นซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน มักจะทานคู่กับ เนื้อหมู สาหร่าย Kamaboko (ลูกชิ้นปลาของญี่ปุ่นที่มีลักษณะเป็นแท่ง) ต้นหอม บางครั้งก็จะมีข้าวโพดหรือส่วนผสมอื่น ๆ ใส่ลงไปตามแต่ละสูตร มาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยกันว่า อ้าว! บะหมี่น้ำของญี่ปุ่นแต่ไหงมาจากจีนล่ะ?

ต้องขอพาย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 17 ในยุคเมจิ มีขุนนางท่านหนึ่งนามว่า Tokugawa Mitsukuni ได้มีโอกาสลิ้มลองบะหมี่น้ำที่ดั้นด้นข้ามน้ำทะเลมาจากแผ่นดินใหญ่แล้วเกิดติดใจ จึงได้อนุญาตให้เผยแพร่อาหารชนิดนี้ในแผ่นดินอาทิตย์อุทัยได้ ในยุคนั้น ราเม็งได้ถูกเรียกว่า  “Shina Soba (支那そば)” หรือ โซบะของจีน นั่นเอง แต่ในเวลาต่อมา ชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศญี่ปุ่นนั้นได้มีการขายราเม็งตามข้างทางมากยิ่งขึ้น โดยจะขายคู่กับเกี๊ยวซ่าและอาหารจีนอื่น ๆ จึงกลายเป็นที่มาของการเผยแพร่วัฒนธรรมราเม็งจากจีนแผ่นดินใหญ่สู่ประเทศญี่ปุ่นและกลายเป็นราเม็งที่เรารู้จักในปัจจุบัน

และที่มาของคำว่า ราเม็ง นั้น แม้จะไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ว่าใครเป็นผู้ที่คิดค้นคำ ๆ นี้ขึ้นมา แต่คาดว่าน่าจะเป็นการเรียกเพี้ยนกันมาตามภาษามากกว่า ซึ่งผู้เชี่ยวชาญราเม็งชาวญี่ปุ่นได้ลงความเห็นตรงกันว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “La Mian (拉麺)” ในภาษาจีนที่แปลว่า ก๋วยเตี๋ยวที่นวดเส้นด้วยมือ นั่นเอง

หน้าตาของ La Mien

ราเม็งนั้นมีการปรุงรสแตกต่างกันตามแต่ละจังหวัดในญี่ปุ่น ราเม็ง เช่น ในเกาะ Kyushu ต้นกำเนิดของ Tonkotsu Ramen (ราเม็งซุปกระดูกหมู) หรือใน เกาะ Hokkaido ต้นกำเนิดของ Miso Ramen (ราเม็งเต้าเจี้ยว) เป็นต้น ชนิดของราเม็งจะแบ่งตาม เส้นก๋วยเตี๋ยว เนื้อ และน้ำซุป สามอย่างนี้เป็นหลัก จะขอตัวอย่างชนิดของราเม็งที่นิยมทานกันทั่วไปในประเทศญี่ปุ่นดังนี้

Shoyu Ramen (ราเม็งซีอิ๊ว)

นี่คือรากฐานของสิ่งที่เรียกว่า ราเม็ง เลยก็ว่าได้ น้ำซุปใสที่ทำจากโครงไก่ น้ำซุปจากกระดูกหมู แผ่นปลาโอ และสาหร่ายคมบุ นำมาผสมกับโชยุที่เป็นเครื่องปรุงประจำชาติของชาวญี่ปุ่น ออกมาเป็นราเม็งรสเลิศที่แม้จะดูเรียบง่ายแต่ในความเรียบง่ายนั้นก็แฝงไปด้วยศาสตร์และศิลป์อันลึกล้ำของการทำอาหาร ที่แม้จะเป็นน้ำซุปที่ทำจากโครงไก่เหมือนกัน แต่การจะทำให้รสชาติออกมาสุดยอดและไม่เหมือนใครได้นั้นมันยากเสียยิ่งกว่ายากซะอีก ถ้าไปที่ร้านราเม็งแล้วอยากรู้ว่าร้านนั้นอร่อยหรือไม่ เมนู Shoyu Ramen นี่ล่ะครับคือเมนูที่จะสามารถบอกได้ว่า ร้านนั้นเจ๋งจริงหรือไม่!

Miso Ramen (ราเม็งมิโซะ)

ราเม็งที่มีต้นกำเนิดมาจากตอนเหนือของประเทสญี่ปุ่น เมือง Sapporo จังหวัด Hokkaido นั่นเอง ราเม็งชนิดนี้จะนำน้ำซุปที่ได้จากการเคี่ยวกระดูกสันหลังหมูให้ออกมาเป็นน้ำซุปสีขาวใส (แต่ไม่ใสเท่าโชยุราเม็ง) ก่อนจะนำไปผสมกับมิโซะและออกมาเป็นราเม็งเต้าเจี้ยวเลิศรส มักทานคู่กับหมูชาชู (หมูหมักซอส) และต้นหอม ถ้ามีโอกาสได้ไปเยือน Hokkaido ต้องไปลองทานราเม็งชนิดนี้กันดู เพราะแต่ละร้านนั้นจะมีรสชาติแตกต่างกันไป บางร้านก็เค็มนำ บางร้านก็เปรี้ยวนิด ๆ แต่ถ้าได้ลองลิ้มชิมรสเข้าไปสักนิดแล้วล่ะก็ รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอนครับ!

Shio Ramen (ราเม็งเกลือ)

นี่คือราเม็งวัดใจที่ท้าทายความสามารถของพ่อครัวแบบสุด ๆ น้ำซุปที่ทำจากโครงไก่เท่านั้นผสมผสานกับเกลือปรุงรสอ่อน ๆ เมื่อนำไปใส่ลงในชามผสมกับเส้นและเครื่องอื่น ๆ แล้วจะกลายเป็นราเม็งรสชาติอ่อน ๆ ที่กินแล้วจะสามารถสัมผัสได้ถึงรสชาติของส่วนผสมทุกชนิดในชามได้แบบเต็ม ๆ นี่คือราเม็งที่วัดฝีมือคนทำเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากน้ำซุปที่ต้องพิถีพิถันแบบสุด ๆ แล้ว เส้น หรือเครื่องอื่น ๆ ที่อยู่ในชามเองก็ต้องใส่ใจไม่แพ้กัน เพราะถ้ามีอะไรบางอย่างไม่อร่อยแล้วล่ะก็ จะทำให้ Shio Ramen ชามนั้นด้อยค่าลงไปทันใด หากอยากวัดว่าร้านไหนเจ๋ง ก็ลองสั่งเมนูนี้กันดูได้ครับ

Tonkotsu Ramen (ราเม็งน้ำซุปกระดูกหมู)

ราเม็งรสชาติเข้มข้นที่มีถิ่นกำเนิดมาจากแดนใต้ของประเทศญี่ปุ่นอย่างเกาะ Kyushu นั่นเอง น้ำซุปของราเม็งชนิดนี้จะทำมาจากการเคี่ยวกระดูกหมูอย่างพิถีพิถันจนออกมาเป็นน้ำซุปสีขาวขุ่น ๆ และปรุงรสด้วยโชยุและเกลือนิดหน่อยเพียงเท่านั้น ราเม็งชนิดนี้จะมีทั้งน้ำข้นสำหรับคนที่ชอบน้ำซุปรสเข้มข้น และน้ำใสสำหรับคนที่ไม่ชอบรสเข้มข้นจนเกินไปนัก ลองหาทานกันดูได้ครับ รับรองว่าซุปของราเม็งชนิดนี้เด็ดสะระตี่จริง ๆ

นอกจากนี้ยังมีราเม็งชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ได้พูดถึงเช่น Takayama Ramen (ทาคายามะราเม็ง) ราเม็งซุปรสโชยุที่ได้จากการเคี่ยวซุปด้วยหมู ไก่ และผัก เสิร์ฟพร้อมท็อปปิ้งเป็น ฮิดะเนงิ (ต้นหอมของเมืองฮิดะ), หมูชาชู และหน่อไม้ รสชาติเรียบง่ายแต่แฝงล้ำไปด้วยสุนทรียภาพของเมือง Takayama และราเม็งชนิดนี้ก็เคยไปปรากฏตัวในผลงานภาพยนตร์อนิเมะชื่อดัง Kimi no nawa. ของอาจารย์ Shinkai Makoto อีกด้วย

รวมไปถึงพวก Tsukemen (ราเม็งแยกเส้นกับน้ำซุป) ที่จะเสริฟเส้นแยกมากับถ้วยน้ำซุปเล็ก ๆ ที่เวลาจะกินก็ต้องคีบเส้นไปจุ่มน้ำซุปพอหมาด ๆ แล้วก็ซู๊ดทั้งอย่างนั้นเลย ซึ่งน้ำซุปที่เสริฟมาคู่กันนั้นจะมีรสชาติค่อนข้างเข้มข้น ไม่แนะนำให้ยกซดแบบเน้น ๆ เป็นต้น

เรื่องราวของราเม็งนั้นเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเพื่อที่จะได้เข้าถึงวัฒนธรรมการกินของแดนดินอาทิตย์อุทัยได้มากยิ่งขึ้น ใครเห็นว่าราเม็งก็เป็นแค่อาหารไม่ใช่หรือ แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นบางคนไม่ใช่แบบนั้น ถึงขนาดมีการจัดอันดับสุดยอดร้านราเม็งเพื่อเฟ้นหาราเม็งที่อร่อยที่สุดในประเทศญี่ปุ่นกันอยู่ทุกปีอีกด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมีการ์ตูนและอนิเมะที่นำเรื่องราวของอาหารชนิดนี้มาพูดถึง หรือบางครั้งก็เป็นแกนเรื่องสำคัญเลยก็มี ทำให้เห็นว่า ราเม็ง ไม่ใช่แค่อาหาร ราเม็งมันได้ก้าวข้ามไปสู่คำว่า ศาสตร์ ศิลป์ และจิตวิญญาณของชาวอาทิตย์อุทัยไปแล้วนั่นเอง