คุณ Yanghua Jin นักศึกษาปริญญาตรีชาวจีนจากมหาวิทยาลัย Fudan University ประสบความเร็จในการพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อวาดตัวละครโมเอะโดยอิงจากภาพถ่ายคนจริงโดยใช้ระบบ Deep Learning ครับ
⇓ คุณ Yanghua Jin นำเสนองานในที่ประชุมซึ่งจัดขึ้นในจังหวัดโตเกียว
ในวิดิโอคุณ Jin อธิบายถึงหลักการทำงานของ GAN หรือ Generative Adversarial Network ระบบ GAN มีหน่วยทำงานใหญ่ 2 หน่วยได้แก่ Generator และ Discriminator ครับ
ระบบ Generator คอยทำหน้าที่จำข้อมูลคุณลักษณะของภาพตัวละครอนิเมะที่ป้อนให้ เช่น ทรงผม, สีตา, ผมยาวหรือสั้น, ปากอ้าอยู่หรือปิดอยู่ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เก็บข้อมูลรบกวน (noise) ด้วยครับ ตัวอย่างข้อมูล noise เช่นอัตราส่วนของตาเทียบกับพื้นที่บนใบหน้าที่เหลือ ตากินพื้นที่บนใบหน้าไปเท่าใด จากนั้น Generator จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปสร้างเป็นภาพตัวละครอนิเมะโมเอะเพื่อหลอกอีกหน่วยหนึ่งที่ชื่อ Discriminator
ระบบ Discriminator มีหน้าที่นำภาพที่ได้จาก Generator ไปเทียบกับคลังภาพจำนวนมากเพื่อหาผลลัพธ์ว่าภาพที่ได้มาเป็นภาพที่ระบบสังเคราะห์ขึ้นเองหรือเป็นภาพวาดอนิเมะจริง ๆ แล้วเก็บไว้เป็นข้อมูลเพื่อเรียนรู้ความผิดพลาด
ยิ่งเวลาผ่านไปนาน ทั้ง Generator และ Discriminator จะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ เองจากการเรียนรู้ ตัว Generator จะสร้างภาพตัวละครได้เก่งยิ่งขึ้น ในขณะที่ Discriminator จะเก่งด้านการตัดสินใจมากขึ้น
คุณ Jin อธิบายถึงระบบ CycleGAN ระบบที่ใช้การทำงานแบบ GAN ที่ได้อธิบายไปข้างต้นว่าเคยถูกนำไปใช้เพื่อเลือก texture มาแปะบนภาพหรือวิดิโอตัวอย่างสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง เช่นการนำภาพม้ามาแสดง แล้วนำลายสลับดำ-ขาวของม้าลายไปแปะเป็นต้น ระบบ CycleGAN เคยถูกนำไปใช้จริงมาแล้วหลายครั้งเช่นบริษัทที่ต้องการผล visualise ภาพการตกแต่งภายในครับ
คุณ Jin อธิบายถึงอุปสรรคที่ระบบ GAN ต้องเจอขณะทำงาน เช่นความไม่สมจริงของตัวละครโมเอะ (เช่นตาที่โตกว่าปกติ จมูกและปากเล็กผิดปกติเป็นต้น) ในรอบการทำงานแรก ๆ ของระบบ ภาพของตัวละครโมเอะที่สร้างขึ้นมีสีที่ไม่ชัดเจนซ้ำยังดูแข็งกระด้าง ขนาดสัดส่วนของตา ปาก จมูกก็ยังไม่สมส่วนดังแสดงในภาพด้านล่างครับ
และเมื่อระบบทำงานและบันทึกความผิดพลาดไปเรื่อย ๆ ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็นตัวละครโมเอะที่หากดูด้วยตาเปล่าแล้วเกือบแยกแยะไม่ออกเลยว่าอันไหนภาพฝีมือ AI อันไหนภาพวาดด้วยมือจริง ๆ
นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าที่สามารถนำไปประยุกต์กับอุตสาหกรรมอนิเมะได้จริง อย่างไรก็ตามในเรื่องสุนทรียภาพและรสนิยมของมนุษย์แล้ว ชาวเน็ตบางกลุ่มก็กลัวว่าอนาคตคอมพิวเตอร์อาจเข้ามาแทนที่งานศิลปะเอาได้ :
“ระบบเรียนรู้ไวจริง ๆ ตอนแรกสร้างออกมาประหลาด ๆ แต่ตอนนี้มัน…”
“ถ้าอะไร ๆ ก็สร้างด้วยคอมพิวเตอร์หมดคงดูน่าเบื่อพิกล แต่ว่าไปงานประเภทนี้ก็ดูโอเคอยู่นะ”
“คอมพิวเตอร์วาดภาพเป็นแล้ว คราวหน้าไม่รู้อีกนานเท่าไหร่คงแต่งนิยายกับวาดมังงะได้”
“สาว ๆ ที่สร้างโดย AI นี่โมเอะมว้ากกก”
“แล้วเมื่อไหร่คอมพิวเตอร์จะเริ่มเฟติชแล้วผลิตงาน Hentai ได้สักทีล่ะ ?”
คุณ Yanghua Jin กล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่จะหานักวาดฝีมือมาคอยวาดรูปเพื่อป้อนข้อมูลให้โปรแกรมทางอินเตอร์เน็ต การเติมข้อมูลเพื่อให้ระบบสร้างตัวละครอนิเมะชายก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อไป แต่ในอนาคตน่าจะมีงานสาขาใหม่ ๆ เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมผลิตอนิเมชั่นแน่นอนครับ
สำหรับผู้เขียน ก็มองว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีผลต่อวงการนักวาดเป็นอย่างมากเลยทีเดียว ทางนักวาดที่เป็นมนุษย์อย่างเรา ๆ เอง ก็อาจจะต้องพยายามสร้างผลงานในแนวทางใหม่ ๆ ที่นอกเหนือจากศักยภาพของ AI ยิ่งกว่านี้ก็เป็นได้ครับ
Source : SoraNews24