สำหรับคนที่นิยมชมชอบในการ์ตูนนั้นหลาย ๆ ครั้งน่าจะได้เห็นถึงการประกาศลิขสิทธิ์(LC)จากทางสำนักพิมพ์การ์ตูนลิขสิทธิ์ในบ้านเรากันเป็นระยะ ๆ ซึ่งก็ทำให้เกิดกระแสการพูดคุยในโลกอินเทอร์เน็ตระยะหลัง ๆ นี้เกี่ยวกับการประกาศลิขสิทธิ์ในหลาย ๆ ประเด็น ซึ่งก็ทำให้เราได้มีโอกาสรวบรวมประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและพูดคุยกับทางสำนักพิมพ์การ์ตูนลิขสิทธิ์ในบ้านเราซึ่งในครั้งนี้เราได้พูดคุยกับตัวแทนจากทั้ง 5 สำนักพิมพ์เล็กใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Siam Inter Comics, Vibulkij, Luckpim, First Page Pro.และ Dexpress ถึงประเด็นนี้กันครับ
เริ่มต้นอยากให้แนะนำตัวกันสักเล็กน้อยครับ
Siam Inter Comics : ผม วิชัย ลิ้มศิริโพธิ์ทอง (หรือ บก.ก๊อตจิ ) เป็นบรรณาธิการบริหารของ Siam Inter Comics นะครับ
Vibulkij : ผมชื่อ พิธูร ตีรพัฒนพันธุ์ นามปากกา “บก.ยูตะ” ทำงานเป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ในส่วนการ์ตูนญี่ปุ่นครับ
Luckpim : ตัวแทนจากทาง Luckpim นะครับ บู๊ ครับ
First Page Pro. : ชื่อมนตรีครับ เป็น บก. บริหารของ First Page Pro. ครับ
DEXPRESS : ผม กวิน โรจน์รัตนวาณิชย์ เป็นบรรณาธิการบริหารของทาง Dexpress Publishing นะครับ แล้วก็ผมควบงานทางฝ่ายดิจิตอล ของทาง Dream Express บริษัทแม่ด้วย ก็ผมเลยสามารถตอบทั้งหมดได้ทั้งทางฝั่งหนังสือและอนิเมะเลยล่ะ
หลายคนคิดว่า “การอ่านสแกน (scanlation)” มีผลต่อการเลือกซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาของสำนักพิมพ์ มีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไรกันบ้างครับ
Siam Inter Comics : ทางเราไม่ได้ไปดูตรงนั้นเลยนะ ในการเลือกเรื่องในสมัยนี้เราเลือกกันละเอียด เราดูกระแสของผู้อ่านในบ้านเรา ว่าเขาชอบแบบไหน เพราะต่อให้เรตติ้งในเน็ตมันดี ก็ใช่ว่าจะทำตลาดในบ้านเราได้ จะเป็นในลักษณะนี้มากกว่าครับ
Vibulkij : อย่างแรกคือเกี่ยวกับการ์ตูนที่เขาสแกนกันเนี่ย มีผลต่อการตัดสินใจของเราไหม สำหรับวิบูลย์กิจเราเนี่ยถือว่าไม่มีเลย เพราะวิธีทำงานของเราไม่ได้เป็นแบบนั้น ถึงวิบูลย์กิจเราจะเป็นเป็นเจ้าที่ลุยด้านการ์ตูนดิจิตอล เต็มที่ เราควรจะได้รับผลกระทบเต็มที่จาก scanlation แต่เราไม่ได้เริ่มต้นแบบนั้นเลยครับ เราเริ่มต้นด้วยวิธีดั้งเดิมของเราเลยก็คือว่า เริ่มที่ กองบก. ก็มองหาทุกวัน เข้าเว็บบริษัทญี่ปุ่น หรือเปิดหนังสือของเขาดูว่ามีอะไรใหม่ ๆ บ้าง ดูว่ามีอะไรที่เราเห็นแล้วสนใจไหม
Luckpim : มันไม่เกี่ยวข้องกันขนาดนั้นครับ ต้องบอกว่าการเลือกซื้อนั้น ปกติญี่ปุ่นเขาจะมีต้นฉบับให้เราดู ว่าเรื่องนี้โอเคไหม เรื่องนี้เหมาะสมไหม เรื่องนี้ชอบไหม หรือบางเรื่องเราเห็นนิตยสารที่ญี่ปุ่นออกตอนแรก เราก็เออ เรื่องนี้ท่าจะเหมาะ ตรงนี้มันก็จะใช้เวลา มันก็ต้องรอจากทางญี่ปุ่นออก เราถึงจะเริ่มซื้อได้ หรือว่าเริ่มที่จะแบบเตรียมการเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ว่าการที่จะดำเนินการได้มันต้องรอรวมเล่มนั่นแหละ เพราะฉะนั้นแล้ว ด้วยความที่ scanlation ทั้งหมดนั้น เขาก็ทำแบบพอนิตยสารออกปุ๊บ เขาก็สามารถเอามาแปลแล้วขึ้นเลยได้ มันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ที่จะถูกเข้าใจผิดแบบนั้น
First Page Pro. : สำหรับผม เนื่องจากว่าของผมเนี่ย นิยายเยอะกว่าการ์ตูน ของผมจึงไม่ค่อยเกี่ยว อย่างตอนนี้ทางผมทำหมวดใหม่ที่เรียกว่า First Love อยู่ ซึ่งตรงนี้แม้ผมจะไม่ดูเอง แต่ว่าพวกทีมงานเขาก็ไปหาข้อมูลจาก scanlation มาใช้เหมือนกัน ส่วนความนิยมนั้นมันก็มีบ้าง แต่ไม่ได้ถึง 100% ในหลาย ๆ ครั้งผมบอกเลยว่า เรื่องที่พูด ๆ กันน่ะ กว่าจะดังในบ้านเรามันก็อยู่ในมือสำนักพิมพ์ไปแล้ว เพียงแต่ว่าเราใช้เวลาในการทำ มันก็จะทำให้บางทีโดนมองว่าเหมือนซื้อมาแล้วประกาศลิขสิทธิ์เลยทันที แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่
อย่างน้อย ๆ เอาง่าย ๆ สมมติว่าประกาศลิขสิทธิ์แล้ว คุณได้เห็นปกภาษาไทย รู้ไว้เลยว่านั่นน่ะ เขาได้ลิขสิทธิ์มาแล้ว 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ไม่อย่างนั้นเขาประกาศแล้วทำปกภาษาไทยออกมาไม่ได้หรอก
DEXPRESS : ในเคสนี้จริง ๆ ผมคิดว่า มันก็แล้วแต่กลไกของแต่ละสำนักพิมพ์นะครับ ผมเคยเชื่อในกระแสว่า พอเรื่องนี้มันมีคนอ่านเยอะ มันก็มีความเป็นไปได้ที่ว่า เรื่องนี้ ๆ มันน่าสนใจ แต่ว่าจริง ๆ แล้วเนี่ย ในโลกของลิขสิทธิ์มันไม่ง่ายขนาดนั้น ยกตัวอย่างเช่น มันไม่ใช่ว่าคุณเห็นนิยายที่เขาแปลจากในเว็บดัง ๆ (อย่าง Narou) มีคนเอามาแปล ไม่ใช่ว่าคุณจะเดินไปซื้อลิขสิทธิ์ได้นะ มันก็มีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างอยู่
บางทีมันจะมีสำนักพิมพ์ที่พวกคุณไม่รู้จักเลย ไม่ได้อยู่ในสำนักพิมพ์ใหม่ ทีคุณแค่เดินไปคุยกับนักเขียนคนนี้ ๆ จากนั้นก็ขอซื้อมาพิมพ์รวมเล่มได้ ซึ่งกรณีแบบนี้ในบ้านเราก็มีคนไปขอซื้อลิขสิทธิ์หนังสือของสำนักพิมพ์แบบนี้ได้เหมือนกัน เช่น Micro magazine ที่ทางสำนักพิมพ์ Luckpim ซื้อลิขสิทธิ์ “เกิดใหม่ทั้งทีก็เป็นสไลม์ไปซะแล้ว” มา แล้วค่ายพวกนี้เล็กมาก ซื้อยากโคตร ๆ ยากมาก ๆ แต่เขาก็มีความพยายามที่จะไปเปิดตลาดใหม่ ๆ
ดังนั้นถ้าถามผมคือ กระแสมันเห็นได้ แต่มันไม่ใข่ตัววัดว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ เพราะว่าในกอง บก. เราเองก็มีการจับตาเรื่องแบบนี้อยู่เหมือนกัน ผมเชื่อว่ากองบก. ของทุกสำนักพิมพ์อะ เขาอ่านภาษาญี่ปุ่นออก เขาไม่จำเป็นต้องไปอ่านภาษาไทยเลย เขาอ่านภาษาญี่ปุ่น เขารู้ว่ามันสนุกหรือไม่สนุก ผมมีความเชื่อแบบนี้นะ
***Narou หรือ Shosetsuka ni Narou เว็บไซต์ให้บริการอ่าน/เขียนนิยายบนเว็บที่มียอดคนอ่านมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น (นึกถึง Dek-D ในบ้านเรา) (https://syosetu.com/)
จากคำถามแรก จริงไหมที่พอผลงานเรื่องไหนมียอดคนอ่านสแกนเยอะ จะทำให้สำนักพิมพ์ตัดสินใจซื้อผลงานเรื่องนั้น ๆ เข้ามา
Siam Inter Comics : ไม่ใช่ครับ คือต้องอธิบายให้ฟังก่อนว่า สแกนกับเราจริง ๆ เห็นพร้อมกัน คือทุกคนเห็นต้นฉบับพร้อมกัน เพียงแต่ว่าระยะเวลามันต่างกัน สแกนเขาเห็นปุ๊บ เขาก็เอามาแปล แต่ของเรามันต้องเดิมตามระดับ เดินตามขั้นตอนไปเรื่อย ๆ จนกว่ามันจะจบ ซึ่งมันก็ใช้เวลา แล้วพอมันใช้เวลาไปสักระยะหนึ่ง ก็กลายเป็นว่าเห็นว่าสแกนมันมีความนิยมค่อนข้างสูง ซึ่งมันไม่ใช่ ทางเรามีทีมงานดูตรงนี้ตลอดครับ
Vibulkij : ตอบได้เลยครับว่าไม่เป็นความจริงและเป็นไปไม่ได้ด้วย ไม่ได้เกี่ยวกับสำนักพิมพ์ไหนก็ตามนะครับ แต่เห็นว่าเรื่องนี้คุยกันใน social เยอะมาก ว่าเรื่องนี้ ๆ ควรมีคนไปซื้อมาทำ น่าจะการันตียอดขายได้ ซึ่งมันอาจจะจริงนะก็มีความเป็นไปได้ แต่พอมาเป็นขั้นตอนของลิขสิทธิ์มันมีขั้นตอนการ offer
อย่างบางเรื่อง เรื่องดัง ๆ อาจจะสงสัยทำไมถึงไม่มีใครเอามาทำ ทั้ง ๆ ที่มันน่าจะการันตีได้ว่ามีคนซื้อ คำตอบง่าย ๆ เลยครับก็คือเขาไม่ให้ครับ นอกจากนี้นั้นการที่มีคนอ่านใน social สัก 7,000 – 8,000 คน ติดตามตลอดทุกสัปดาห์นั้น มันไม่ได้เป็นคำตอบเลยว่าขายดีไหม และไม่ได้เป็นคำตอบเลยว่าเมื่อมันดังแบบนั้นแล้ว เราจะไปขอลิขสิทธิ์ได้ มันไม่ได้อยู่แค่ที่สำนักพิมพ์กับคนอ่านแล้ว แต่มันอยู่ที่สำนักพิมพ์ของญี่ปุ่นด้วย ตัวอย่างเช่น ในปีสองปีที่ผ่านมา มีคำตอบหนึ่งที่เราได้รับ ที่เป็นเหตุผลของการยังไม่ให้มาเนี่ย คือ “คนเขียนยังไม่พร้อมยังให้มันออกต่างประเทศ” ครับ
Luckpim : การซื้อลิขสิทธิ์ครับ มันไม่สามารถดำเนินการเสร็จใน 1 วัน 1 ชั่วโมง 1 วินาที มันใช้เวลาครับ เพราะบางครั้งเราอาจจะซื้อมาเป็นปีแล้ว แต่ อ.ผู้เขียนยังไม่ได้ตอบรับมา หรือยังไม่เสร็จดำเนินการเรื่องสัญญา นั่นก็ทำให้เราดำเนินการขายไม่ได้ ดำเนินการผลิตไม่ได้ ก็เลยล่วงเลยไปแบบนี้ มันก็จะเป็นปัญหาครับผม ซึ่งถามว่า เราไปอ่านสแกนมาก่อนไหม ก็ไม่นะ มันก็จะกลับไปที่คำถามเดิมคำถามแรก ก็คือ ไม่เกี่ยว
First Page Pro. : มีส่วน แต่มันอย่างที่ผมบอกคือมันไม่ 100% เพราะหลายครั้ง มันอยู่ในมือของสำนักพิมพ์อยู่แล้ว แปลจะเสร็จอยู่แล้ว อย่างมีเรื่องหนึ่งดังตอนประมาณเล่ม 3 เล่ม 4 แต่เราอ่ะกำลังทำเล่ม 1 อยู่ จะออกงานหนังสือแล้ว ทุกคนก็บอก เฮ้ยสำนักพิมพ์นี้ ได้รับกระแสอนิเมใช่มั้ยถึงไปซื้อลิขสิทธิ์มา ไปดูกระแสของคนอ่านในเน็ตมาใช่ไหม? ซึ่ง….มันก็มีส่วนบ้าง ส่วนหนึ่งมันก็เกิดจากการที่เราไปวิเคราะห์ต้นฉบับมาแล้วด้วย
สำหรับทาง First Page Pro ต้องบอกว่า ใช่ เราเลือกของเราเอง เพราะจำนวนของ First Page Pro เนี่ยน้อยมาก เราจะคัดสรรค์ว่าเราจะมองช่องทางของเราเอง ต่อให้คนไม่รู้จักเราก็ต้องเอามา เพราะเราคิดว่ามันทำตลาดได้ ซึ่งถ้าคิดในมุมกลับ กว่าจะรอให้มันดังเนี่ย คุณก็ต้องเผชิญกับคู่แข่งแล้วอ่ะ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นความเสี่ยง ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ (หัวเราะ) นึกเล่น ๆ อ่ะ ถ้าสมมุติผม อ่านวันพีชถึงตอนที่ 100 กว่าแล้วเนี่ย แล้วผมอยากได้วันพีช คุณคิดหรอว่าเขาจะขายให้เรา เขาก็ขายให้คนอื่นไปก่อนแล้ว ยุคนี้เลยต้องมองว่าการตัดสินใจซื้อเนี่ย เวลามันเป็นส่วนนึงที่ต้องคำนึงถึงมาก บางเรื่องรอให้ดังไม่ได้ ถ้าคุณรอให้ดัง บางทีก็ดับ
DEXPRESS : ผมคิดว่าหลาย ๆ เรื่องเกิดจากการมโนของคนที่คิดแบบนี้อะนะ บางเรื่องเนี้ย เราสังเกตุเห็นได้ก่อนขั้นตอนการซื้อลิขสิทธื์ซะอีก ในขั้นตอนก่อนที่คุณจะได้อ่านแปล ในระหว่างที่เรากำลังดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์เนี่ย พวกคุณก็คิดว่า พวกคุณกำลังแปลในเรื่องที่มันสนุกอยู่แล้วเราไม่ได้ทำอะไร ลิขสิทธิ์มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะเดินไปซื้อแล้วเขาจะขายให้คุณทันที มันจะต้องมีขั้นตอนการนำเสนอ ขั้นตอนการประมูลราคา หรือว่าอะไรก็ตาม เช่นนักเขียนไม่ขาย หรือนักเขียนยังไม่พร้อมขาย อะไรแบบนี้
ยกตัวอย่างเช่น เอาที่ผมเล่าให้ได้ อย่างเรื่องที่เรากำลังพิมพ์อยู่เรื่องหนึ่ง ในความเป็นจริงเนี่ยมีสแกนออกสักพักแล้วหละ คนก็คิดว่าเรื่องนี้สนุก จริง ๆ ในขั้นตอนการซื้อลิขสิทธิ์ค่อนข้างจะวุ่นวาย เพราะว่าในความเป็นจริงแล้ว นักเขียนไม่อยากออกต่างประเทศ พวกคุณอาจจะไม่ทราบเคสนี้ แต่เราก็จะเล่าให้ฟังได้บ้าง นักเขียนบางเรื่องเขาไม่มั่นใจว่าเขาจะเขียนได้ยาวขนาดไหน เขาไม่มั่นใจเรื่องว่าเขาจะเป็นยังไง เขาไม่มั่นใจที่จะขายลิขสิทธิ์ออกไปนอกประเทศ มันมีเคสแบบนี้
แต่อย่างที่บอกว่าแต่ละสำนักพิมพ์ก็จะมีคอนเนคชั่นอยู่ในมืออยู่แล้ว เขาก็จะเห็นว่าเรื่องนี้มามันดัง เพราะว่าสำนักพิมพ์ทำงานมันต้องมีไทมไลน์ในการทำงาน มันไม่ใช่ว่าไอเรื่องนี้ดังแล้วจะลัดคิวออกก่อนได้เลย ตารางงานล้มหมดครับ มันทำไม่ได้ คุณคิดว่าตอนที่ One Punch Man ลงตีพิมพ์ในเว็บเนี่ย NED ไม่จับตาหรอ แล้วเขารู้ว่าเขามีสิทธิ์ที่จะซื้อได้ด้วย เพราะว่าเขาพิมพ์งาน Eyeshield 21 มาก่อน ในระบบญี่ปุ่นจะมีระบบที่เรียกว่าค่อนข้างให้เกียรติในการที่นักเขียนคนนี้ เคยพิมพ์งานกับคนนี้ เขาก็จะยกให้สำนักพิมพ์นี้ดูแลไป ถ้ามันไม่เกิดกรณีเลวร้ายจริง ๆ เช่นย้ายค่าย
ถ้าแบบนั้นแล้วที่มีการพูดคุยกันว่า scanlation มีส่วนช่วยในการโปรโมทเรื่องนั้น รวมไปถึงช่วยกระตุ้นยอดขายทางสำนักพิมพ์มีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ
Siam Inter Comics : ผมว่าไม่ใช่ เพราะว่าพอเราได้ทำตลาดกันจริง ๆ ไม่ใช่เอาจากตรงนั้นเลยนะ เราต้องไปหาข้อมูลหลาย ๆ อย่างเข้ามาซัพพอร์ทกันมากกว่า อย่างเช่น เรื่องนี้ มันมีอะไรยังไง เรามานั่งวิเคราะห์กันในเชิงลึก ว่าเรื่องนี้มันจะมีอะไรที่เป็นจุดขาย มีอะไรที่เราจะดึงข้อมูลจากตรงไหนมาได้มากกว่า ไม่ได้เกี่ยวกับสแกนเลย
จริง ๆ แล้วผมอยากจะบอกว่า “ไม่ควรจะแปลกันเลยนะ scanlation เนี่ย เพราะมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย” ถามว่าจริง ๆ แล้วเราเคยเข้าไปดูอยู่เหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าเรตติ้งของ scanlation ดี แล้วคนอ่านจะซื้ออ่านกัน มันไม่ใช่เลย มันไปคนละทาง
Vibulkij : เราไม่เคยทำสำรวจเรื่องพวกนี้ วิบูลย์กิจก็ไม่เคยทำ สมมุติ ตอนที่วิบูลย์กิจยังไม่ได้ลิขสิทธิ์ Attack on Titan ต้องย้อนไปก่อนว่าเรื่องนี้ ก่อนที่เราจะทำ มันมี scanlation แล้ว แต่มันดังหรือไม่ดังนั่นอีกเรื่องนึง แต่พอมันมีอนิเม แล้วมันบูมขึ้นมาแบบนี้ มันมีผลทำให้การ์ตูนขายดีบ้างไหม อาจจะมีบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ แต่เราไม่สามารถสรุปเป็นตัวเลขได้ว่ามันเป็นแบบนั้นทุกเรื่องได้ไหม
แต่เราเชื่อว่ามันไม่เกี่ยว สิ่งที่ทำให้เราเชื่อว่ามันไม่เกี่ยว เพราะว่าจากแนวทางของเราในช่วงนี้ที่เราทำทั้งเล่มพิมพ์และดิจิตอล เรารู้ได้เลยว่าด้วยสภาพปัจจุบัน ตลาดสิ่งพิมพ์มันหดตัวในขณะที่ดิจิตอลก็ยังขึ้นไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่รู้เพดานมันอยู่ตรงไหน เราเลยรู้สึกว่าเราถูกบีบให้วีถีชีวิตของเรามันเปลี่ยนไปบ้างพอสมควร การหาซื้อหนังสือก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ อีกต่อไป อินเตอร์เน็ตเลยดูเหมือนเป็นตัวใหม่ที่เข้ามาแทน ที่ทำให้คนสมัยใหม่รู้จักอะไรจากอินเตอร์เน็ตมาก่อน แต่ว่ามันไม่ได้เป็นคำตอบออกมาเลย มันไม่ได้ยืนยันเลยว่าคนที่เขารู้จักจากอินเตอร์เน็ต เขาจะมาซื้อหนังสือต่อไหม
Luckpim : มีผลครับ มีผลในด้านลบ ยิ่งมี scanlation มากขึ้น ยิ่งทำให้ยอดขายลดลง เพราะคนอ่านสปอยกันไปหมดแล้ว ถามว่าบางเรื่องมันมีผลไหม บางเรื่องก็มีพอ scanlation กันเยอะ คนอยากชื้่อมันก็มี แต่บางเรื่องมีผลย้อนกลับคือ คนรู้เนื้อเรื่องแล้วคนก็ไม่อยากอ่าน นั่นแหละครับ มันก็เป็นดาบสองคม มันไม่มีทางที่คุณจะบอกว่าเพราะ scanlation แล้วมันถึงได้อยู่ได้ ยกตัวอย่างหลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้น หลาย ๆ เรื่อง scanlation ลงไป ยอดตก อย่างเช่น “ชมรมคนไร้เพื่อน” ที่มีสปอยตอนจบปั๊ป ยอดลดลง เขาบอกจบไม่ได้แบบที่ชอบ เพราะฉะนั้นจึงไม่เกี่ยว
First Page : ไม่ครับ คือ scanlation ช่วยในการทำให้ นักอ่านเป็นที่รู้จัก อันนี้ถูกต้อง แต่โดยเนื้อหาแล้วเนี่ย บางครั้งมันก็ต้องเน้นที่การทำตลาด ตอนนี้ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งเลยที่คนพูดถึงมาก คือ “เสียงกระซิบจากคนตาย” scanlation ดังมากทุกคนพูดถึง คนอยากอ่านคนเข้าไปตามทุกตอน แต่หนังสือไทยขายไม่ดี ตรงนี้มันอยู่ที่การทำตลาด ยุคนี้มันไม่ใช่ยุคของการวางของขายแล้วคุณจะได้รับการตอบรับที่ดี ตอนนี้การ์ตูนมันไม่ใช่ธุรกิจที่สามารถขายได้ด้วยตัวของมันเอง ต้องใช้การตลาดบ้าง บางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องโด่งดังมาก ขอให้คุณมียอดขายที่ใช้ได้ก็พอ หรือบางเรื่องโด่งดังมาก ๆ ดังมากจนบางทีลูกค้าก็อาจไม่รอ ไปนั่งอ่านสแกนกันหมด ปัจจุบันตอนเนี้ยต้องยอมรับเลยว่าการ์ตูนที่มี scanlation เนี่ย บางเรื่องก็ขายดีมาก แต่ในขณะเดียวกันบางเรื่องก็ไม่ได้ขายดี

DEXPRESS : ถ้าตอบในแง่หนึ่งเลย ความเป็นจริงคือ “ใช่” แต่ไม่ตอบเรื่องยอดขายแม้แต่นิด ต้องแยกเรื่องกันครับ แฟน คนที่บอกเป็นแฟนเนี้ย ชั้นโหลดดูทางอินเตอร์เน็ตมา ชั้นโหลดดูมาจนทะลุปรุโปร่งเลย แต่ชั้นไม่ซื้อสินค้าของเรื่องนี้เลย คุณจะเรียกว่าตัวเองเป็นแฟนได้ไหม?
คำตอบคือได้ครับ การเป็นแฟนมันไม่ได้หมายความว่าคุณต้องซื้อผลงานเรื่องนี้ แต่คุณเป็นแฟนที่ดี หรือ แฟนที่ไม่ดีล่ะ มันเป็นเรื่องแย่แบบนี้ต่างหาก การที่คุณเสพผลงานของเขา ไม่ว่าจะจากทางไหนก็ตาม คุณชื่นชอบผลงานเขา คุณรู้เนื้อเรื่องนั้น ๆ คุณเป็นแฟนได้ แต่คุณไม่ใช่ลูกค้า แฟนกับลูกค้าเป็นเรื่องแยกกันชัดเจน
หลาย ๆ เรื่องเราบอกได้ว่าต่อให้มันมี scanlation ออกเยอะ ๆ มันไม่ได้ตอบว่าคนจะซื้อเสมอไป คนจะซื้อหรือไม่ซื้อมันเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เช่นเรื่องนี้ ต่อให้อ่าน scanlation ก็ซื้อ ก็คงมี แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่มันก้ำกึ่งระหว่างการที่อ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่าคงไม่ซื้ออะ มันมีเรื่องแบบนี้ถูกปะ การที่มีสแกนออกมาเยอะ ๆ เนี่ย มันก็เป็นการทอนคุณค่าของตัวนักเขียนเหมือนกัน ถ้าคนอ่านไปแล้วรู้สึกว่า เรื่องนี้ไม่ต้องเก็บก็ได้ ยอดขายมันจะมาจากไหนละครับ
กระแสในโลกอินเตอร์เน็ตมีผลต่อการคัดเลือกซื้อลิขสิทธิ์ รวมถึงตลาดการขายหนังสือลิขสิทธิ์มากน้อยแค่ไหน อย่างไร
Siam Inter Comics : เหมือนกับที่ตอบไปก่อนหน้านี้ ว่ามันมีช่วงที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอน จากนั้นถึงจะมีการพูดคุยติดต่อขอซื้อกันครับ
Vibulkij : ถ้าจะพูดเรื่องกระแส เอาเป็นเรื่องเชียร์ดีกว่า เช่นบางคนมีความรู้เรื่องสำนักพิมพ์ญี่ปุ่น เขาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นของ สำนักพิมพ์ Kodansha ก็พิมพ์บอกว่า วิบูลย์กิจช่วยเอาเรื่องนั้น ๆ เข้ามาหน่อย ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจจะมีผลแต่ตอนนี้มันไม่มีผลแล้ว แนวทางที่เรานำไปใช้คือเราจะมองว่าการ์ตูนที่จะนำเข้ามาต่อจากนี้ไป จะต้องอยู่ได้ทั้งบนสิ่งพิมพ์และดิจิตอลได้ เพราะเราทำการ์ตูนไปหาคนอ่านที่อยู่ในตลาด mass เราต้องการการ์ตูนที่เข้าถึงคนอ่านได้เยอะ ๆ แนวทางของเราจึงชัดเจนว่าต้องไปด้วยกันทั้งคู่
Luckpim : มีผลและไม่มีผล มัน 50-50 ซึ่งมันต้องดูเป็นเคสบายเคสกันไป ก็อย่างที่บอกมันก็จะวนกลับไปที่สเตปเดิมก็คือ เฮ้ยกระแสออกมาถึงขนาดในแง่ลบ เราก็ไม่เอาอยู่แล้ว เราก็ไม่มีความสนใจอยู่แล้ว กระแสในแง่บวกก็ดูว่ามันเหมาะสมไหม มันเข้ากับประเทศได้หรือเปล่า อย่างเช่นบางเรื่องถ้ามันมีฉากเซอร์วิสมาก เราก็ต้องตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอา สนใจหรือไม่สนใจ ซื้อหรือไม่ซื้อ หรือถ้าเรื่องไหนที่ scanlation กันทุกวี่ทุกวัน สแกนกันจนถึงเล่มล่าสุด จนวินาทีเดียวกัน แบบทุกครั้งที่ออกเลยแบบนี้ มันก็จะทำให้เลือกซื้อยากอะ เราก็ไม่มั่นใจจนถึงขั้นไม่อยากได้ก็ได้ เพราะด้วยความที่เรื่องบางเรื่องมันไม่เหมาะกับการอ่านซ้ำ
เรื่องบางเรื่องแบบแนวสืบสวนสอบสวนเงี้ย ถ้ามีการสปอยกันหรือเฉลยตอนจบแล้ว จบเลย คนไม่อยากอ่านอีกแล้ว เรื่องแบบนี้มันก็เลยมีผลจริง ๆ จริง ๆ คือมีผลต่อการซื้อตรงที่ว่าถ้าออกมาเยอะ ๆ มันก็จะทำให้เราอาจจะลดความสนใจในเรื่องนั้น ๆ ลง ทำให้ไม่เกิดการซื้อลิขสิทธิ์เกิดขึ้นนั้นเองครับ
First Page Pro. : มีครับ มีแต่ในภาพรวมแล้ว พี่ไม่ได้ดูจากกระแสที่เรียกว่า “กระแสในเน็ต” พี่ไปดูจากบอร์ดที่เขานั่งวิจารณ์ เก็บจากกลุ่ม Amazon ตามบอร์ดนู้นนี่นั่น 2Chan ก็ไปนั่งดูอะไรแบบนี้ว่า เออ เนื้อหามันดีไหม การแสดงออกเป็นยังไง และพอไปดูกระแสในเน็ตอีกที มันก็ทำให้การันตีได้ระดับนึงว่า น่าสนใจ แต่ถ้าถามว่าให้เลือกจากกระแสในเน็ตเพียงอย่างเดียว บางครั้งมันก็ไม่ใช่
เพราะหลายๆ เรื่องต้องยอมรับว่า ที่เห็นกระแสในเน็ตแล้วพี่ยังไม่เอาเข้ามาเพราะว่ามันยากในการทำตลาด ตัวตลาดในญี่ปุ่นกับเมืองไทย ต้องบอกว่าไม่เหมือนเลยล่ะ ถ้ายกตัวอย่างก็ ”ผู้กล่าโล่ผงาด” ที่ญี่ปุ่นไม่เคยติดชาร์ทเลยนะ แม้แต่อันดับ 1 ใน 30 แบบรายเดือน แต่ยอดขายเขาการันตีว่าเป็นเบอร์ 1 ซึ่งพี่ก็นั่งคิดอยู่ ว่ามันจริงหรอ?
แต่พอมาพิมพ์เป็นของเราอ่ะชัวร์ ขายดี และต้องบอกว่าผู้กล้าโล่ขายดี เพราะฉะนั้นถามว่าถ้านับตามกระแสเนี่ย นิยายผู้กล้าโล่เนี่ย ถือเป็นแม่เหล็กมั้ย ก็เป็นแม่เหล็กในระดับนึงตอนที่มันยังเขียนอยู่ในเน็ต แต่พอจบในเน็ตคนก็ไม่ค่อยพูดถึงมาก แต่ว่ายอดขายก็ไปได้ เพราะว่าตัวเรื่องของมันดี
DEXPRESS : ผมคิดว่ามันเป็นส่วนสำคัญนะ ที่จะสร้างกระแสให้เกิดขึ้น เราพิจารณาได้ แต่ต้องคงให้เหมาะกับตัวพื้นฐานของ สำนักพิมพ์เรา เราก็รู้ว่าเราจะไม่พิมพ์หนังสือแบบไหน ยกตัวอย่างเลย เราพูดได้ชัดเจนเลยว่าถ้าเป็นแนว Yaoi ไม่ต้องเสนอมาทาง Dexpress นะ เราไม่ทำ มันเป็นนโยบายของทางบริษัทแม่บอกเลยว่าเราไม่ทำ ชัดเจนมาก ๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่มันมีกลิ่นหน่อย ๆ ก็พิจารณาได้ แต่ถ้าจะเอาจัด ๆ เลยคุณคงไม่เห็นในตลาดหรอก ไม่ต้องมาเรียกร้องให้เราทำ
อะไรสำคัญที่สุดในการรับ feedback จากผู้อ่าน ทั้งในโลกออนไลน์ และช่องทางอื่น ๆ ที่ได้สื่อสารกับลูกค้า

Siam Inter Comics : ถ้าพูดกันตามตรงก็อย่างที่เราพยายามทำในเพจของ Siam Inter Comics โดยที่ในเพจของ Siam Inter Comics จะได้รับฟี๊ดแบคค่อนข้างสูง เราคอยดูตลอด เพราะเราทำการตลาดเชิงลึกตรงนั้นครับ
Vibulkij : พูดถึงช่องทางออนไลน์ที่ใช้ตอนนี้ก็มีแค่ Facebook ซึ่งคำถามที่ส่งเข้ามาเราก็ตอบทันบ้างไม่ทันบ้าง แต่สำหรับช่องทางออนไลน์ มันก็ยังเป็นข้อดี เพราะวิบูลย์กิจเองตอนนี้เรามี partner เยอะขึ้น เรามี MEB, Ookbee, Comico เรากำลังจะมี Google Play หรือแม้แต่ IReader จากจีนที่กำลังจะเข้ามาในไทย อีกหน่อย ความต้องการมันจะไม่ตรงมาหาเราแล้ว แต่มันจะตรงไปที่ partner ของเรา และเมื่อพวกเขาส่งข้อมูลต่าง ๆ มาให้ เราก็จะเริ่มสิ่งต่าง ๆ เพื่อสนองตลาดให้กับเขา แต่สำหรับคำถามที่ถามเข้ามาตรง ๆ เราก็ยังรับอยู่ ซึ่งเพียงแต่ว่าแนวทางปัจจุบันของเรามันต้องไปคู่กัน ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และดิจิตอล ซึ่งมันก็เป็นโจทย์ที่บังคับแนวทางของเราพอสมควร
Luckpim : ก็ทุก ๆ อย่างรวม ๆ กันเราอาจจะไม่ได้ดูออนไลน์ทั้งหมด เพราะเราอาจจะได้รับคำตอบที่เหมือนอารมณ์ ณ เดี๋ยวนั้น ในระยะยาวอะมันใช้ไม่ได้ มันได้แค่ประเดี๋ยวประด๋าว หรือการคุยข้างนอกเนี่ย ก็ได้อะไรมากส่วนหนึ่ง หรืออย่างทีมงานหรือ กอง บก. ก็มีการพูดคุยกัน ว่ามันเหมาะไหม มันโอเคหรือเปล่า เราก็ดูฟีดแบคส่วนหนึ่งอยู่ด้วย ให้มันผสม ๆ กัน
First Page Pro. : ต้องบอกว่าเรารับฟีดแบ็กจาก Facebook เนี่ยเป็นหลัก เพราะ Facebook เราคือตรง ลูกค้าสามารถตอบโต้ได้ ถ้าถามว่าอ่านฟีดแบ็กจากที่อื่นมั้ยก็มีบ้าง แต่ขอใช้เป็นคำว่าไม่ค่อยใส่ใจ เพราะบางทีมันเป็นที่ที่เราไม่สามารถไปคุยกับเขาได้ ถ้าคุยได้สามารถแก้ไขได้ สามารถสอบถามข้อมูลที่มีประโยชน์ได้อันนั้นคือโอเค แต่ถ้าเป็นแบบบอร์ด บอร์ดปิดสาธารณะ ซึ่งเราก็มีตัวตนในฐานะของบุคคล ไม่ใช่ฐานะสำนักพิมพ์ เราก็มีการพูดคุยบ้าง แต่เอามาใช้เป็นประโยชน์ยาก เพราะเราก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเราเป็นใคร หรือเปิดเผยไป มันไม่สามารถคุยแบบตัวต่อตัวได้ สาระที่ได้จะน้อยมาก
ต้องยอมรับว่าการพูดคุยเนี่ยอะไรที่มันเป็นการคุยโดยตรง มันสามารถกลั่นกรองข้อมูลได้ง่ายกว่าเช่น บางคนบอกว่าหนังสือคุณห่วยมาก ก็ถามเจาะไปว่าไม่ดีตรงไหนอ่ะ ตัวเรื่องหรอ คำแปล ตัวอักษร การพิมพ์ภาพ หรือว่าการจัดจำหน่าย มันมีปัจจัยตั้งเยอะตั้งแยะ ถ้าสมมุติคุณบอกห่วย คุณฟังแต่ว่าเฮ้ย มันห่วย เอากลับมาเก็บเป็นข้อมูล มันจะเก็บไว้ในส่วนไหนของผมล่ะ แล้วมันก็ไม่ได้พัฒนาต่อไป
DEXPRESS : ตรงนี้เรามี customer service ที่รองรับตรงนี้อยู่แล้ว ก็จะมีหลาย ๆ ครั้งที่่ลูกค้าก็จะคอมเพลนมาว่า อันนี้แปลไม่ดีนะ อันนี้แปลผิดนะ อันนี้แปลไม่ถูกต้อง กอง บก. รับรู้ทุกเรื่องที่ผ่านไปอยู่แล้ว ไม่ว่าจะผ่านทาง Facebook, twitter บลา ๆ คือเรารับรู้เรื่องนี้ได้เร็ว แล้วเราก็จะเอาไปคุยกันในกอง บก.มันเกิดเหตุการณ์อะไร
ถ้าในกลุ่มอื่น ๆ โดยปกติเราจะไม่ไปดู โดยพื้นฐานแล้ว ลูกค้าที่เข้ามาคอมเพลนถึงเราโดยตรงแสดงว่าเป็นลูกค้าที่ซื้อของเรา คือการที่จะเข้าไปอ่าน feedback เราเข้าไปแยกไม่ได้ว่า ตกลงซื้อจริงรึเปล่า เขาอ่านจากเวอร์ชั่นไหน หรืออย่างที่เขาบอกว่าสำนวนไม่สนุกเท่ากับในเน็ต นั่นก็ตอบได้ว่าเขาอ่านของเราแล้วนะ ก็คิดว่าเป็นแนวโน้มที่ดีนะ มันไม่ใช่ว่ามาแบบ “Overlord สนุกมากเลย เราต้องพิมพ์เล่ม 13 ให้ทันญี่ปุ่น” นั่นก็เป็นไปไมไ่ด้
ในมุมของสำนักพิมพ์ ตลาดมังงะ ไลท์โนเวล ในไทย กับ ในญี่ปุ่น จุดที่เหมือนกันและแตกต่างกัน มีอะไรบ้าง

Siam Inter Comics : ตลาดในไทยมันอย่างที่เราเห็น ๆ กัน ณ วันนี้ มันเป็นเทรนด์อย่างนี้ พอผ่านไปอีกสักสองสามเดือน มันก็เปลี่ยนเทรนด์ไปแล้ว ซึ่งเราก็ต้องตามให้ทัน แต่ในทางกลับกันทางญี่ปุ่นเขามีระยะเวลาที่ค่อนข้างนานพอสมควรแต่ละเทรนด์ แล้วด้วยธรรมชาติของคนญี่ปุ่นเขาอ่านมากกว่าเรา ของเราเนี่ยมันเฉพาะกลุ่ม สัดส่วนมันเลยน้อยกว่าของเขาอยู่แล้ว
Vibulkij : ข้อดีของ light novel ก็คือว่าคนไทยโชคดีที่เรามีคนที่รู้จักเรื่องพวกนี้จาก internet มากขึ้นในปัจจุบัน จากที่เมื่อ 7 ปีก่อน อาจจะมีคนรู้จักอยู่แค่กลุ่มเล็ก ๆ ไม่ใหญ่มาก แล้วมันก็ขยายตัวใหญ่โตตอนนี้มันก็ฟูลสุด ๆ ตอนนี้มีพิมพ์ออกมาไม่รู้กี่ร้อยกี่หลายเรื่อง โอเคว่าตลาดมันทำหน้าที่ของมัน เคลียร์อะไรที่ไปต่อได้ อะไรที่ไปต่อไม่ได้ ตอนนี้นักเขียนที่ดัง ๆ คนไทยก็รู้จักกันเกือบหมดแล้ว แล้วอะไรที่ขายได้พวกสำนักพิมพ์ต่างๆที่ทำอยู่ Phoenix, Dexpress, Luckpim, Zenshu, Animag ก็รู้กันว่าเรื่องอะไรที่ทำมาแล้วขายได้ แต่เรากลัวมาก ๆ ว่าสุดท้ายแล้วจะเหลืออยู่ไม่กี่เรื่องที่มันขายได้ แต่ผมว่าพวกเขามีทางออกเรียบร้อยแล้ว เพราะทุกวันนี้ไลท์โนเวลที่เรารู้จักหรือเข้าใจพัฒนาไปหามีเดียอื่น ๆ เรียบร้อยแล้ว มันทำให้หนังสือที่เรามีอยู่ หรือเคยซื้อไว้แล้วหรือสนพ. ที่มีอยู่ มันไม่กลายเป็นสิ่งพิมพ์ที่เก่า นั่นเป็นข้อดีของไลท์โนเวล มันเปิดโลกใหม่ให้กับผู้อ่านครับ
Luckpim : ต้นทางมาไม่ดี ปลายทางก็ลงอยู่แล้ว คือต้องมองว่าด้วยความที่กระแส ที่ญี่ปุ่นอะ เขาเป็นต้นทางไง ถ้าเกิดสมมุติว่าแนวเรื่องที่มันเหมือน ๆ กัน แนวเรื่องที่ไม่แตกต่างกัน มันเกิดขึ้นมาเยอะ ๆ ก็จะทำให้ หลาย ๆ คนอาจจะบ่นว่า เฮ้ย ทำไมต่างโลกเยอะจัง ทำไมมันมีแต่แนวนี้เต็มไปหมด อีกอย่างคือบางเรื่องมีเนื้อหาไปทางวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาก ๆ คนญี่ปุ่นก็จะชอบ อ่านก็จะแบบโหว นี่เกี่ยวกับต่างจังหวัดเกี่ยวกับประเทศ อะไรที่มันแบบ วัฒนธรรมของเขา แต่พอมาถึงไทย เฮ้ย ไม่อินอะ หรืออย่างแบบ มุกตลกแบบญี่ปุ่น การ์ตูนที่ตลกแบบญี่ปุ่น ยอดขายสูงมากเลย พอมาอยู่ที่ไทย ตลกญี่ปุ่นคืออะไร เราไม่เก็ต มันก็จะต่างกันในเรื่องของธรรมชาติอยู่แล้วครับ
First Page Pro. : จุดเหมือนกันนี่ค่อนข้างน้อย (หัวเราะ) ยอมรับเถอะ ว่าตอนนี้จุดเหมือนกันเนี่ยน้อยมาก น้อยจริง ๆ ตลาดเรากับเขาไม่เหมือนกันเลย ยกตัวอย่างตลาดผู้หญิงนะ ตอนเนี้ย ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดผู้หญิงยังไงผู้หญิงก็มากกว่า แต่ผู้หญิงบ้านเราส่วนใหญ่ไม่อ่านการ์ตูน ไม่อ่านไลท์โนเวล อ่านแจ่มใส อ่านใยไหม ใยไหมนี่เก่าโบราณมากเลย… หรืออ่านพวกของสถาพร อะไรพวกเนี้ย ซึ่งกลุ่มนี้ เขาแทบไม่แตะมาทางกลุ่มของพวกนิยายแปล การ์ตูน ไลท์โนเวล แล้วถ้าดูลักษณะเนี้ยมันจะเป็นเราไปเกาะฝั่งนู้นมากกว่า ถ้าคุณอ่านแจ่มใสนะ ต่อไปคุณก็อ่านการินของพูนิก้า มันจะเป็นแพ็คแบบนี้มากกว่า ถ้าถามว่าเขาจะมาอ่านญี่ปุ่นเกาหลีหรือค่ายอื่นมั้ย คือเกาหลีสร้างกระแสได้มากขึ้นจีนก็มากขึ้น แต่ญี่ปุ่นเนี่ย บางทีคนอ่านไทยไม่อ่านญี่ปุ่น แต่หลายปีที่ผ่านมานี้คือสินค้ามันก็เข้ามาเยอะคนก็เริ่มอ่านเยอะ ก็มีบ้างที่ของเรากับแจ่มใสครอสกันก็มี แต่น้อย
DEXPRESS : จุดแรกสุดเลย คือจำนวนลูกค้าเราไม่เท่ากัน ถ้าให้เราพูดของเราก็น้อยกว่าสักสิบเท่าได้มั้ง ตลาดของการเสพสื่อพวกนี้อะนะ คือยังงี้ ผมคิดว่าการ์ตูนที่เข้ามาในบ้านเราจริง ๆ แล้วในแง่ของการซื้อลิขสิทธิ์เราเองก็ไม่ได้น้อยหน้ากว่าชาติใดในโลกนะ แต่คือจำนวนคนอ่านของเราอะ มันไม่เท่ากันตั้งแต่แรกสุดเลย ถามว่าไม่เท่ากันด้วยเหตุผลอะไร หนึ่งผมคิดว่าเพราะว่าบ้านเราเนี้ย ร้านหนังสือมันมีจำกัด คุณอาจจะเห็นร้านคุณอยู่ในกรุงเทพ มันมีร้านหนังสือเยอะ แต่จริง ๆ ในต่างจังหวัด ร้านหนังสือน้อยมาก เชนสโตร์ก็แทบจะเอาตัวไม่รอด
ก็มีหลายคนบ่นว่าโครงสร้างหนังสือในบ้านเรานะ มันแพงไปเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ผมคิดว่าจริง ๆ หนังสือมันไม่ได้แพงเกินไป แต่รายได้ของคนหนะมันต่ำเกินไป รายได้ที่เกิดขึ้นจริง ๆ อะนะ คุณทำงานพิเศษวันหนึ่งที่ญี่ปุ่น อาจจะได้ซื้อหนังสือการ์ตูนกลับมาอ่านได้หลายเล่ม แต่ในไทยทำได้ 300 เดี๋ยวนี้อาจจะซื้อหลาย ๆ เล่มไม่ได้หรือบางสำนักพิมพ์ไม่ได้เลยสักเล่ม เพราะมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ต้องใช้เงินทำแบบนั้นขึ้นมา
แล้วค่าครองชีพของเราก็ไปคิดค่าของชีพเมื่อสมัย 20 ปีที่แล้วว่าการ์ตูนต้องเล่มที่ 20 บาทแล้วคุณคิดว่า 20 บาทสมัยนี้ค่าพิมพ์เล่มมันพิมพ์ได้ไหม มันพิมพ์ไม่ได้ไง ผมก็เลยจะตลกเสมอเวลาที่คนบอกว่า “วิบูลย์กิจขึ้นราคาอีกแล้วเหรอ” คุณก็ลองดูค่าข้าวที่คุณจ่ายทุกวันนี้สิเคยจ่าย 20 บาทวันนี้จ่าย 40 ทำไมคุณจ่ายสองเท่าไม่ได้ละ มันเรื่องเดียวกันอะ สิ่งพิมพ์มันไม่ได้ปลูกต้นข้าวขึ้นมาแล้วได้เป็นเล่มสักหน่อย มันไม่ใช่ไง กระดาษมันก็ต้องขึ้นราคาทุกวัน หรือขึ้นราคาค่าเครื่องจักร ไหนจะค่าจ้างคน ค่าโสหุ้ย ค่าสายส่ง คือปัจจัยมันเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว อยู่ที่คุณไม่ยอมรับ แล้วพวกคุณคิดว่าเมื่อเทียบกับอื่น ๆ แล้วมันไม่สมเหตุสมผล เพราะว่าคุณแค่ไม่มองถึงค่าของมันเท่านั้นเอง เรื่องมันมีแค่เนี้ย
ในมุมของสำนักพิมพ์ ระหว่างหนังสือเป็นเล่ม กับ e-book มีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไรบ้าง

Siam Inter Comics : ณ ตอนนี้เราก็ทำการตลาดคู่ขนาน ถ้าตัวสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นหลาย ๆ สำนักพิมพ์เขาซัพพอร์ท เราก็จะออกคู่ขนานกันไปทั้งตัวรูปเล่มและ e-book เพราะ ณ วันนี้ผมคิดว่า e-book ยังไม่โต เหมือนกับเด็กพึ่งหัดเดิน แต่ผมเชื่อว่าอีกสัก 5-10 ปี มันน่าจะไปได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าแบบรูปเล่มจะเล็กลงนะ มันก็ยังอยู่ แต่ทาง e-book จะโตขึ้น ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขาย ตัวผมมองว่าคนอ่าน e-Book เป็นคนละกลุ่มกับคนอ่านหนังสือรูปเล่ม เพราะว่าคนอ่านหนังสือ สมมุตว่าเอาตัวผมเป็นหลักนะ ผมว่าผมอ่านหนังสือดีกว่า อย่าง e-book อะ ไอ้เรามันก็ผู้ใหญ่ อ่านแล้วรู้สึกว่ามันเสียสายตา แบบรูปเล่มมันได้กลิ่นกระดาษ ได้กลิ่นหมึกดีกว่า (หัวเราะ)
Vibulkij : สำหรับวิบูลย์กิจแล้ว เรามองว่าหนังสือเล่มพิมพ์ กับ e-book เป็นสื่อคนละแบบเลยครับ มีลักษณะที่แตกต่างกัน เข้าหาผู้รับสารกันคนละกลุ่ม พอเรามองว่ามันเป็นคนละกลุ่ม เราเลยไม่รู้สึกว่าแต่ละแบบมีข้อดีหรือเสียต่างกันยังไง เรารู้สึกว่าข้อดีข้อเสียของหนังสือเล่มพิมพ์ กับ e-book ขึ้นอยู่กับผู้รับสารต่างหาก ที่จะคิดว่าแบบไหน ดีหรือเสียยังไง แต่ในฐานะที่เราเป็นนักอ่านรุ่นเก่า เรารู้สึกดีใจนะ ที่ถ้าเราจะหาการ์ตูนคลาสสิคอ่านสักเรื่อง แล้วมันไม่มีเล่มพิมพ์อีกแล้ว (เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่พิมพ์อีกแล้ว) แต่ยังมี e-book เป็นทางเลือกให้ซื้ออ่านได้ ไม่งั้นแล้ว นับจากนี้ไปอาจไม่มีใครหา Black Jack อ่านได้อีกเลยครับ
Luckpim : e-book มันก็ดี คือคุณอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ คุณสามารถหยิบขึ้นมาอ่านผ่านมือถือ แท็บเลต หรือบนคอมพิวเตอร์ก็ได้ ซึ่งมันเป็นข้อดีตรงที่ว่าไม่เปลืองพื้นที่เก็บ และในแง่ของสำนักพิมพ์ ในเรื่องต้นทุนการผลิตมันก็จะลดลงไป แต่ก็ต้องใช้กระบวนการผลิตที่นานเช่นกัน และทุกอย่างมันมีต้นทุน ไม่ใช่เอามาฟรี เพราะเราไม่ใช่สแกน เราทำตามลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องทุกอย่าง แต่ข้อเสียของมันก็คือด้วยความที่ตราบใดที่ยังสแกนอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ต มันก็มีผลต่อการขายว่าทำไมในเน็ตมีให้อ่านฟรี ทำไมต้องจ่ายเงิน มันก็จะเป็นปัญหาตรงนี่ที่เข้าลูปไปเหมือนเดิม
First Page Pro. : e-book มันมีข้อดีอย่างนึง การลงทุนมันจะได้คืนไวกว่า แต่ข้อเสียคือ e-book ไม่ตอบโจทย์หลายๆ อย่าง ยอดขายน้อยแต่ถามว่ามันมากกว่าที่คิดมั้ยมันมากกว่า ถ้าถามผม ผมก็ปลื้มยอด e-book อยู่เหมือนกัน แต่ถ้าถามเฉพาะ e-book คุ้มมั้ย ไม่คุ้มถ้าคิดว่า e-book เป็นกำไรโอเค แต่ถ้าคิดว่าเริ่มต้นจาก 0 ไป e-book เลยเนี่ยก็ขาดทุน สำหรับ e-book มันต้องเติบโตแน่แต่ว่าเติบโตในทิศทางไหน ต้องรอให้พวกเรามีหลานกันอ่ะ e-book ถึงจะขายได้ เหตุผลง่ายๆ เลยทุกคนมีแท็บเลต มีมือถือ รู้จักสิ่งที่มันเป็นหนังสือน้อยลง เลยชินกับการอ่านจากแท็บเลต ถ้าเป็นแบบนั้นจริง นั่นแหละ e-book ถึงจะมาจริง ๆ ตลาดก็จะทุ่มไปทาง e-book หมด
DEXPRESS : ถ้าถามของเรา ถ้าเรื่องไหนทำ e-book ได้เราจะทำครับ หลาย ๆ เรื่องเราก็ให้ความสำคัญกับ e-book ด้วยการที่บางทีเราออกก่อนเล่มจริงซะอีก แต่ในแง่ของลิขสิทธิ์เนี่ย ทางญี่ปุ่นไม่ค่อยปล่อยให้ทำ การทำ e-book จริง ๆ แล้วมันเกี่ยวกับต้นสังกัด เรื่องนี้จะมีพูดถึงในเรื่อง “เล่มนี้ต้องพิมพ์ซ้ำ” ก็มีบางเคสที่นักเขียนไม่ยอมให้ทำ e-book เลยก็มี
สำนักพิมพ์คิดเห็นอย่างไรกับพฤติกรรมการอ่านของคนที่เปลี่ยนไป และมีวิธีรับมืออย่างไร
Siam Inter Comics : ตอนนี้จะเห็นว่าทางเพจ Siam Inter Comics เมื่อไหร่ที่เราออกเรื่องใหม่เราก็จะมีให้อ่านฟรีตอนนึง หรือแล้วแต่ตัวนักเขียนจะให้ สมมติว่าเราจะมีบางช่วงให้อ่านทั้งเล่มเลย ให้มีการอ่านฟรี ให้คนได้ลองเข้าไปอ่านเข้าไปดู แล้วชอบใจก็ไปซื้อ
Vibulkij : สิ่งที่วิบูลย์กิจเห็นว่าสำคัญคือ การที่ทุกวันนี้หลายๆ คนรู้จักหนังสือช้ากว่าแท็บเลต หนังสือมันเดินมาหาเราไม่ได้แน่ ๆ เราต้องเดินไปหามัน แต่อะไรที่อยู่ในเน็ต มันมาหาเราเลย ขนาดเราพิมพ์ผิด มันยังไปหาที่ถูกให้เราได้เลย แต่มันใช่ช่องทางที่ถูกต้องไหมมันก็อีกเรื่อง เราเชื่อว่าเมื่อวิบูลย์กิจดำเนินงานด้านดิจิตอลกับพาร์ทเนอร์ในอนาคตเรามุ่งมั่นจะทำให้ของที่เสียเงิน ดีกว่าของฟรี ดึงคนที่อ่านฟรีมาพิจารณาของถูกกฏหมายพวกนี้ได้ว่าคุณมีทางเลือกที่ถูกต้อง
Luckpim : ต้องพยายามทำให้ผู้อ่านเข้าใจ ว่าการทำงานมันมีกระบวนการนะ แต่โดยส่วนหนึ่งเราก็พยายามที่จะทำทุกอย่างให้มันเร็วขึ้น ให้มันทันใจมากขึ้น แต่สุดท้ายมันก็ยังติดเรื่องขั้นตอนอยู่ เพราะฉะนั้นแล้ว ด้วยความที่โลกอินเตอร์เน็ตมันทำให้เรากับผู้อ่านมันใกล้ขึ้นกว่าเมื่อก่อน เพราะฉะนั้นสำนักพิมพ์ก็มีหน้าที่คือต้องปรับตัว ให้เข้ากับผู้อ่านให้มากที่สุด แต่ส่วนหนึ่งก็อยากจะให้ผู้อ่านทำความเข้าใจเรามากขึ้นด้วยเช่นกัน
First Page Pro. : รับมือยังไง ก็ต้องยอมรับว่าค่อยๆ ดูไป อย่างเช่นถ้า e-Book มันมากขึ้น พี่ก็มี E-Book รองรับ แต่ก็ต้องรอดูการตลาดที่มันดุกว่าเดิม อย่างเช่นของ e-Book ฝรั่งเขาก็มีซื้อภาพที่ไม่มีในเล่มญี่ปุ่นมาแถมบ้าง ซึ่งอันเนี้ย เราก็ดูอยู่ และเราก็ทำ แต่ของเราต้องทำให้แตกต่าง เพราะเวอร์ชั่นฝรั่งกับของไทย พอเทียบราคาแล้วก็ใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นเราก็ทำให้แตกต่างอย่างเช่น “อาชีพกระจอกแล้วทําไมยังไงข้าก็เทพ” เนี่ย เราก็ต้องมีปกพิเศษ ซึ่งปกพิเศษตรงเนี้ย ไม่มีในญี่ปุ่น ไม่มีของฝรั่งทำแน่ ๆ เพราะเราออกแบบเองเอารูปเขามาใช้ มันก็ทำให้ยอดขายใช้ได้ แต่ตอนนี้ผมก็ดูเรื่องของการทำการ์ตูนเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากร้านการ์ตูนมันปิดตัวลงเรื่อย ๆ แล้วเราจะทำการ์ตูนดีรึเปล่าก็ยังเป็นคำถามอยู่ เพราะฉะนั้นการทำนิยายปลอดภัยกว่าเพราะร้านหนังสือใหญ่ก็ยังเปิดตัวอยู่ และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่อตลาดมันเปลี่ยนแปลงเราก็ต้องมองของทิศทางสินค้าที่เปลี่ยนไป ร้านหนังสือส่วนใหญ่เขาไม่อยากขายการ์ตูนหรอกเงินมันได้น้อย
DEXPRESS : วิธีการอย่างหนึ่งที่เราใช้ แต่จริง ๆ ไม่ค่อยจะได้ผลนะ ส่วนมากเราจะเลือกเรื่องที่ไม่ค่อยมีสแกน เราก็ตรวจสอบเรื่องแบบนี้เหมือนกัน เพราะว่ามันก็เป็นการตัดทางแบบหนึ่งว่าไม่ได้หาอ่านจากที่อื่นได้ ก็เป็นวิธีการแบบหนึ่งเหมือนกัน หรือเรื่องของการทำรูปเล่ม บางเล่มเนี่ยเราก็ทำรูปเล่มให้ราคาสูงไปเลย ด้วยคุณภาพการพิมพ์ที่ดีขึ้น เรามองว่าเรื่องแบบนี้ ต่อให้อ่านแล้วก็อยากซื้อเก็บ หรือเช่นทำไมเราถึงตัดสินใจพิมพ์ “เชอร์ล็อก” เล่มแพงไปเลย เรามองว่าตลาดฐานลูกค้านี้ต้องการเล่มที่ดีที่สุดไปเลย ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องการปรับตัว เพราะว่าเราคาดหวังให้คนมีสำนึกบอกว่าจะซื้อการ์ตูนลิขสิทธิ์ทุกเล่มมันเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าเราต้องจูงใจลูกค้าด้วยวิธีการอื่น เช่นการทำรูปเล่มให้ดีที่สุด หรือการออกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้
การสปอยล์มังงะ หรือไลท์โนเวลในโลกออนไลน์ เช่น การนำภาพบางส่วนมาโพส หรือ การนำเนื้อหามาบอกเล่าล่วงหน้า ส่งผลอย่างไรต่อสำนักพิมพ์เจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ อย่างไร และทางสำนักพิมพ์มีความเห็นอย่างไรกับสังคมออนไลน์ในลักษณะนี้

Siam Inter Comics : ในส่วนการสปอยล์เราไม่สามารถไปห้ามเขาได้ เพียงแต่ว่า ณ วันนี้ ผมเชื่อมั่นนะว่า คนอ่านต่อให้สปอยล์ยังไง ผมว่าถึงวันที่หนังสือมันออกจริง ๆ ผมว่าเขาก็ซื้ออ่าน ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับสปอยล์เท่าไหร่ แล้วความคิดของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน มุมมองการอ่าน การคิด อะไรพวกนี้มันแตกต่างกัน
ผมเชื่อว่าคนที่อ่านหนังสือมาเยอะ ๆ การอ่านสปอยล์มันก็แค่ผิวเผิน ไม่ได้เอาเนื้อเรื่องอะไรมากมาย ด้วยการทำงานของเรามันมีขั้นตอนเยอะแยะมากมาย ไหนจะการแปล ไหนจะการเกลาสำนวน บางทีนักแปลเขาอ่านแล้วเขาอาจจะเข้าใจในมุมมองของเขา เราก็ต้องมาเกลาออกมาให้ถูกต้อง ซึ่งมันทำให้งานที่ออกมาถูกต้องและสมบูรณ์
Vibulkij : ด้วยสภาพที่มันเป็นอยู่ของตลาด พี่เชื่อว่าความสำคัญของมันจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ ก็เหมือนกับ คินดะอิจิ หรือ Eden Zero หรือ โคนันอะไรพวกนี้ เราจะไม่เกิดความรู้สึกแบบ โอ้ยเมื่อไหร่มันจะเช้าวันพุธสักทีแล้วจะไปรอหน้าร้านหนังสือเพื่อรอตอนใหม่ ๆ หรือแม้แต่การไปรอหน้าเว็บ scanlation ที่ออกก่อน ความรู้สึกแบบนั้นจะไม่เกิดขึ้นแล้ว มั่นใจว่ามันจะไม่เกิดขึ้นเพราะมันมีทางเลือกเยอะขึ้น เราไม่มีความจำเป็นที่ต้องติดตามเร็วจี๋ คนแบบนั้นจะเหลือน้อยมาก ซึ่งตรงนี้ทางเราไม่ได้สนใจแล้ว แต่ว่าสิ่งที่เราต้องการก็คืออย่างเช่น Eden Zero ที่ออกแบบ simultaneous ญี่ปุ่นออกตอนไหนเราก็ตอนนั้น เราทำให้เห็นแล้วว่ามันเกิดระบบแบบนี้ที่เมืองไทย แต่มันทำแบบนี้ไม่ได้ทุกเล่ม แต่ให้เป็นทางเลือกและให้คนรู้จักมากขึ้นว่ามันมีแบบนี้อยู่ เราเชื่อว่าด้วยระยะเวลาที่ห่างกัน ระหว่างสแกน กับการที่เราทำ simultaneous ระหว่างมาตอน 5 ทุ่ม กับ 8 โมงเช้า มันจะต่างอะไรกันขนาดไหน แต่มันจะไปต่างกันตอนรวมเล่มออก สแกนคงจะทำรวมเล่มลำบาก หรือทำมาก็ไม่รู้สึกว่าเราอ่านหนังสืออยู่ แต่วิบูลย์กิจ มีรวมรวมเล่มของ Eden Zero ออกมาเรียบร้อยด้วย
Luckpim : ผมว่ามันเป็นเรื่องของมารยาท คนอะพูดถึงได้ มันไม่ได้มีห้ามหรอก เหมือนกับคุณไปดูภาพยนตร์อะ แล้วคุณไปยืนพูดหน้าโรง คนที่เขาไปดูเขาก็โกรธคุณได้ เขาก็ไม่โอเคกับคุณ เช่นกันครับ ตรงเนี้ยมันส่งผลต่อรายได้ แต่ว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงกับคนที่ทำสปอยทั้งหลายเนี่ย ผมว่าแค่พูดถึงประเด็นว่า สนุกไม่สนุก พูดรวม ๆ ในเล่มนั้น ๆ ผมโอเคนะพูดแค่นั้น แต่ถ้าพูดถึงสปอยล์ ทั้งหมด มันไม่โอเคอะ นอกจากจะไม่โอเคกับ สำนักพิมพ์แล้ว มันก็ไม่โอเคกับคนอ่านด้วยกันเองเพราะคนอ่านบางคนก็เสียอรรถรส บางคนก็ไม่โอเคที่จะปสอยล์แบบนั้นเพราะฉะนั้นก็ขอความร่วมมือละกันเนาะ ช่วยกันสปอยแบบพอดิบพอดี พอหอมปากหอมคอ อย่าเยอะเกินไป แปะกันทั้งหน้าทั้งเล่มแบบนี้ก็ไม่ไหวครับ
First Page Pro. : ผมเชื่องานวิจัยบางส่วนนะ เขาบอกว่าสปอยล์ทำให้คนอ่านสบายใจในการอ่านมากกว่า คือไม่ใช่อ่านไปแล้วสะดุด เนื้อหาไม่เป็นอย่างที่คุณต้องการเลย คุณรับไม่ได้ มันทำให้เราสบายใจในการซื้ออ่านมากกว่า ถึงมีสปอยล์ผมก็ไม่ซีเรียส แต่ไม่ใช่แบบเอามาแปะ 15 หน้าผมบอกสปอยล์นะครับพี่ สปอยล์น้องนี่เยอะจัง ถ้าเราปล่อยปละละเลยเกินไปญี่ปุ่นเขาไม่สบายใจ เขาก็ด่าเราอีก มันเป็นเรื่องของการบาลานซ์ระหว่างความถูกใจของนักอ่านกับสำนักพิมพ์ ซึ่งตัวคนตรงกลางอย่างสำนักพิมพ์ไทยมักจะโดนทุกที
DEXPRESS : ถ้ามองในแง่ของความเป็นหนัง ผมคิดว่ามันคงมีผลอยู่บ้าง ว่าเฮ้ยรู้ตอนจบแล้วก็คงไม่อ่านซื้อจนจบ แต่ผมบอกตรงนี้ว่า ถ้ามันเป็นเรื่องที่มันออกมาสักระยะนึงแล้วเนี่ยการสปอยล์ตอนจบมันคงไม่มีผลขนาดนั้นอะ ถ้าคุณออกมาสักพัก คือสปอยล์ตอนเล่ม 12 ตอนที่เขาออกมาเล่ม 10 คุณจะไม่ซื้ออีก 2 เล่มจริง ๆ หรอ คิดว่าคงไม่ ผมคิดว่าคนคงแบบ มันก็คือตอนจบอ่ะ ช่วยอะไรไม่ได้ ผมว่าเรื่องนี้คนมีปัญหาน่าจะเป็นฝั่ง light novel ที่พิมพ์พวกนิยายพวกที่มันมีจุดพีคเยอะ ๆ ที่พอรู้ตอนจบแล้วแบบแทบจะฉีกหนังสือทิ้ง ผมคิดว่ามันก็มีปัญหาอยู่บ้าง ในแง่มุมเราเราเชื่อว่าคนอ่านเรามีคุณภาพมากพอที่จะแยกแยะได้ว่าเป็นยังไง
มีวิธีรับมือกับข่าวลือ หรือ ความเห็นในแง่ลบที่ส่งผลกระทบต่อสำนักพิมพ์อย่างไร
Siam Inter Comics : ผมจะชั่งน้ำหนักเอานะ ว่าความเห็นที่บอก ๆ กัน มันใช่หรือไม่ใช่ เพราะบางทีก็จะเห็นบางความเห็นที่ค่อนข้างรุนแรง อย่างที่เราเห็น ๆ กัน เยอะแยะมากมาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ ถ้าเกิดเราไปตามเขาตลอด ตรงนี้มันก็ไม่จบไม่สิ้น เราเลยต้องชั่งน้ำหนักครับ เรารับพิจารณาทุกความคิดเห็นครับ แต่ว่าต้องมานั่งวิเคราะห์กันอีกทีว่าความเห็นนี้ ๆ ใช่หรือไม่ใช่
Vibulkij : ไม่รับครับ อาจจะตลกหน่อยคือเราไม่รับ แต่เราเชื่อว่าสำนักพิมพ์ต่างๆ คงคิดแบบเดียวกัน เพราะเราขี้เกียจมาแก้ความเข้าใจผิดจากคนที่ไม่อยากเข้าใจ ถ้าเขาถามว่าเล่มนี้ออกเมื่อไหร่เราจะตอบ แต่ถ้าแบบแพงไปเล่มนี้ แพแน่ รอมันจบก่อนแล้วค่อยไปซื้อ เราก็จะไม่สนปล่อยมันไป ยกเว้นแต่พวกอย่างเช่น การพิมพ์แย่ กระดาษหมึกดำปี๋ เราก็จะส่งเปลี่ยนให้เพราะเป็นความผิดเรา แต่ถ้าแบบแพไม่แพเราก็ไม่รู้จะตอบยังไงเพราะมันเป็นเรื่องของอนาคต เพราะเราไม่รู้ว่าในอีก 2 ปีจะเกิดอะไรขึ้น
Luckpim : มันทำอะไรได้ยาก แต่ว่าก็จะพยายามอธิบายให้คนเข้าใจนะครับ อยากให้ได้เข้าใจเราซะมากกว่าว่า ทุกอย่างมันมีขั้นมีตอน มีระบบมีระเบียบ มีกฏและมีขั้นตอนในการทำนะครับ มันต้องใช้เวลา ส่วนข่าวลือต่าง ๆ ที่ออกมาก็อยากจะให้ฟังหูไว้หูแล้วก็หาข้อมูลกันเยอะๆ หรือบางครั้งลองถามสำนักพิมพ์ โดยตรง อะไรที่บอกได้ อะไรที่พูดได้ เราก็จะบอกให้ครับ
First Page Pro. : รับไม่ได้ครับ รับมือไม่ได้ บางทีเจอข่าวลือตลกๆ ผมก็ยังงงๆ อยู่แล้วผมจะแก้ยังไงล่ะ มีข่าวตั้งแต่ผมอยู่ที่เก่า ว่าผมเดินไปหาญี่ปุ่นและญี่ปุ่นไล่ออกจากบริษัท คือวงในบางคนก็ถูก แต่วงในส่วนใหญ่ก็มั่ว ใช้คำงี้ดีกว่า แล้วการปล่อยข่าวพวกเนี้ยคนที่พูดก็คือคนที่ไม่รู้แล้วไปฟังที่อื่นจากอีกที่นึง ก็มีคนถามผมในหลายๆ เรื่อง ซึ่งผมก็ต้องถามตรงๆ ว่าเอามาจากไหนหว่า “อันนี้เพื่อนเล่าให้ฟัง” “แล้วเพื่อนเอามาจากไหนล่ะ” “เพื่อนเล่าให้ฟังอีกที” แล้วผมจะไปแก้ที่ต้นตอยังไงล่ะ
DEXPRESS : เราไม่ค่อยเคยเจอเคสนี้ เราก็เลยไม่รู้ว่าต้องรับมือขนาดไหน เรื่องนี้ถ้ามีโอกาสถามอะไรมาเราก็จะตอบลูกค้านะ ว่าแบบนี้ ๆ เรื่องนี้เป็นยังไง ถ้าเขามาบอกกับเราโดยตรง เราก็จะตอบให้ สมมุติเรื่องลิขสิทธิ์ เราก็จะตอบให้ว่าอยู่ในระหว่างการจัดทำ อยู่ในระหว่างการจัดซื้อลิขสิทธิ์ ผมว่าแต่ละสำนักพิมพ์ก็จะมีวิธีในการรับมือที่แตกต่างกัน เพราะว่าในอินเตอร์เน็ตอ่ะ มันมีนักแคปในตำนานเวลาที่เราพิมพ์ตอบอะไรไปเนี่ย มันมีผลกระทบสูงแล้วมันก็ต้องพิจารณาด้วยว่าคำตอบที่ออกไปเนี่ย มันถูกต้องหรือยัง
ตอนสัมภาษณ์นี้ใกล้จะงานหนังสือแล้ว มีอะไรอยากจะฝากถึงผู้อ่านเป็นพิเศษไหมครับ

Siam Inter Comics : ก็อยากจะให้คนอ่าน อ่านหนังสือกันเยอะ ๆ สนุกกับการ์ตูนแล้วก็เอาความรู้จากการ์ตูนเอาไปต่อยอดครับ เพราะถ้าอ่านการ์ตูนก็จะรู้ว่าการ์ตูนแต่ละเรื่องได้ความรู้ทั้งนั้นเลยครับ นักเขียนการ์ตูนแต่ละท่านไม่ได้นั่งเทียนเขียน เขาลงลึกหาข้อมูล ผมมองว่าการ์ตูนมันไม่ใช่แค่การ์ตูน จริง ๆ แล้วมันคือวรรณกรรมเสียมากกว่า เพราะที่ญี่ปุ่นการ์ตูนมันก็มีของผู้ใหญ่อ่านไม่ใช่เเค่เด็ก แล้วมันแฝงไปด้วยคติ และความรู้กันทั้งนั้น เช่นเรื่อง Kingdom ก็ได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาตร์ แม้จะแค่อิงประวัติศาตร์ แต่เราก็ได้รู้รายละเอียดโดยรวม และย่อยง่ายขึ้น ในส่วนของงานหนังสือ พวกการ์ตูนหัวใหญ่ ๆ ก็จะไปโผล่ในงานหนังสือกัน บางส่วนก็จะมีการวางจำหน่ายก่อนงานหนังสือ ตอนช่วงงานหนังสือจะได้ไม่ต้องรอกันไปครับ
Vibulkij : นอกจากเรื่องที่ได้บอกไปแล้ว นอกจากนี้เราก็อยากจะบอกผู้อ่านว่าเราจะพยายามเต็มที่ ที่จะให้นักอ่านไทยเข้าใจดิจิตอลมากขึ้น รายได้เรามาจากสิ่งพิมพ์ ทำได้เราอยู่ได้ มีเงินเดือนมีเงินใช้จนทุกวันนี้ และจะพยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยครับ นอกจากนี้เราเคยประกาศเรื่องที่หยุดพิมพ์การ์ตูนของสำนักพิมพ์ Akita-shoten ไปก่อนแล้ว แต่ในปีหน้าเราจะพยายามเต็มที่เพื่อให้การ์ตูนของสำนักพิมพ์ Akita-shoten กลับมาออกใหม่ได้ เพราะเราเคลียร์งานบางส่วนของ Kodansha ให้เขาได้แล้ว เรากำลังเคลียร์ผลงานของ Shogakukan อยู่ อย่างที่เห็นว่าเราทำเรื่องโคนันบนอินเทอร์เน็ตแล้ว เราจะใช้เวลาไม่นานเคลียร์มันทั้งหมด แล้วก็เรื่องที่ค้างๆ อยู่อย่างเช่น Katsu! เดี๋ยวตามมาแน่ เพราะว่าเราไม่สามารถทำมันรวดเดียวได้แล้ว เราใช้วิธีที่ค่อย ๆ เคลียร์ตัวเรา ทำให้ปีหน้าใครที่รอ Ouke no Monshou (คำสาปฟาโรห์) เราจะทำให้มันกลับมา
เสร็จแล้วเราจะสอดแทรกสิ่งที่ท้าทายให้สังคมและผู้อ่านของเราเอง คุณกล้ารับการ์ตูนพวกนี้ได้ไหม คุณไม่ซื้อเราก็ไม่ว่าแต่มันเริ่มแล้ว แต่อย่าโกรธกันนะที่มันต้องไปโผล่บนดิจิตอล เพราะเราไม่แน่ใจเรื่องสิ่งพิมพ์เหมือนกัน ในอนาคตเราจึงจำเป็นต้องมีบางเรื่องที่เป็นแค่ดิจิตอลอย่างเดียว แล้วถ้าเกิดว่ามียอดในดิจิตอลมากพอเราค่อยมาคุยกันเรื่องสิ่งพิมพ์กัน
Luckpim : ฝากงานหนังสือด้วยนะครับ อีกสองครั้ง ที่จะอยู่ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก็จะเดินทางกันง่าย ๆ หน่อย เพราะปลายปีหน้าจะอยู่ที่เมืองทองละ ก็ไปกันเยอะๆ ละกันครับ ผมก็จะมีโปรโมชั่น และมีหนังสือใหม่ๆ ไลน์อัพใหม่ๆ ให้ได้ซื้อได้อ่านกันละกันเนาะ เท่านี้ละกันครับ
First Page Pro. : ปีนี้เรายังไม่มีอะไรพิเศษแต่ปีหน้าเราคงจะมีการเชิญนักเขียนมาแต่อาจไม่ใช่เซสชั่นผู้ชายนะ (หัวเราะ) เป็นเซสชั่น Y มากกว่า เพราะตอนนี้กำลังติดต่อกันอยู่ การทำงานของเราเนี่ย มันก็ขยายตัวทุกปีและปีนี้หนังสือเราจะออกมากขึ้นเท่าตัว ในงานหนังสือนะ ก็ฝากให้นักอ่านไปซื้อกันหน่อยละกัน ใช้คำว่ากราบไหว้เลยครับ (หัวเราะ) เพราะว่าเราก็ต้องเตรียมตัวไว้สำหรับปีหน้า ซึ่งไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น ยอมรับว่างานหนังสือมันเป็นอิมแพ๊คที่ใหญ่มากสำหรับเรา ถึงขั้นมีคนพูดว่าไม่แน่ว่าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เสร็จจะมีงานหนังสืออยู่หรือเปล่า มันเป็นทิศทางที่น่ากลัวจริงๆ คือถ้ามองจากภาพตอนนี้ ผมเชื่อว่ามีงานประมาณงานหนังสือผุดขึ้นเยอะแน่นอน แต่พองานมันผุดเยอะความสนใจมันก็จะต่ำลง ก็อาจปั่นป่วนซักประมาณปีสองปีและถ้าสมมติใครแพ้ ตอนนั้นแหละจะเห็นภาพชัด
DEXPRESS : ปีนี้ในงานหนังสือก็ เท่าที่ผมจำได้ ผมไม่ได้จำได้ 100% เราก็มีทั้งหนังสือเล่มต่อหรือเวลาเล่มใหม่เปิดตัวอีก ทั้งนิยายและก็ส่วนของการ์ตูนที่ประกาศไป เราก็จะได้ออกสักที ก็อยากให้ทุกคนไปที่งานหนังสือกัน เอาเข้าจริง ๆ เราเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะต้องไปงานหนังสือแล้วซื้อหนังสืออย่างเดียว เพราะว่าจริง ๆ แล้วการคาดหวังให้ทุกคนไปซื้องานหนังสืออย่างเดียวเนี่ย เป็นความเหนื่อยใจของสำนักพิมพ์มาก เพราะในความเป็นจริงแล้วการที่คุณไปซื้อหนังสือแค่งานหนังสือมันทำให้เราได้เงินแค่ปีละ 2 ครั้งระหว่างนั้นมันเป็นเรื่อง suffer มาก ๆ กับการที่หนังสือขายตามร้านค้าไม่ได้ เพรางั้นจริง ๆ แล้ว ถ้ามีโอกาสก็ไปซื้อหนังสือของเราตามร้านหนังสือนะครับ
ประดับความรู้! 1
ทำไมวิบูลย์กิจต้องมีกันสาดข้างบน

Vibulkij : อ้อ จริง ๆ มันก็เป็นเรื่องของ ฮวงจุ้ย ท่านเจ้าของธุรกิจท่านเชื่อเรื่องพวกนี้ เวลาคุยกันทีไรท่านก็จะขอแหละ ว่าเล็ก ๆ ก็ได้แต่ขอให้มีหน่อย แต่บางเรื่องที่ญี่ปุ่นห้ามไม่ให้มีก็จะไม่มีเช่น Sailor Moon อะไรแบบนี้ ถ้าเรื่องไหนเล็กได้เราก็จะพยายามให้มันเล็กลง เท่าที่ทำได้
ประดับความรู้! 2

Co-Novel ของทาง Siam Inter Comics อันนี้นี่คือตลาดใหม่ Co นี่คือ Comic ส่วน Novel ก็คือ Novel เราหาตรงกึ่งกลางของมัน ต้องเรียกว่ามันเป็นการ์ตูนวรรณกรรมที่มีเนื้อหา เนื้อเรื่องที่มันโตขึ้น สำหรับเด็กที่โตขึ้นหรือผู้ใหญ่
ก็จบกันไปแล้วกับบทสัมภาษณ์ที่เต็มไปด้วยสาระมากมายจากพี่ ๆ ตัวแทนจากสำนักพิมพ์ Siam Inter Comics, Vibulkij, Luckpim, First Page Pro และ Dexpress มาก ๆ เลยครับ และแน่นอนว่าตัวบทสัมภาษณ์ของเรายังไม่หมดแค่นี้ เพราะนี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งจากการสัมภาษณ์ที่เราได้รับมา คอยติดตามเนื้อหาเต็ม ๆ ที่นัดแน่นไปด้วยสาระจากพี่ ๆ สำนักพิมพ์ได้เร็ว ๆ นี้นะครับ