คำไหนที่ผู้ชายญี่ปุ่นใช้เรียกตัวเองแล้วดูดี ดูน่าสนใจมากที่สุด จากความเห็นของสาวญี่ปุ่น 100 คน
สังคมญี่ปุ่นนั้นได้ชื่อว่าเป็นสังคมแห่งการโอนอ่อนผ่อนตาม แม้การแปะป้ายเหมารวมเช่นนี้จะดูไม่ค่อยแฟร์สำหรับพวกเขา แต่มันก็จริงที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ เมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ แล้ว พวกเขาเลือกที่จะปรับตัวให้เข้ากับสังคม มากกว่าที่จะโดดเด่นเดี่ยว ๆ ขึ้นมา ส่งผลถึง “การใช้คำเรียกแทนตัว” ของตัวเอง ที่มีหลากหลาย และแตกต่างกันไปในแต่ละคำ แต่ละบริบท
ในภาษาญี่ปุ่นนั้นมีคำเรียกแทนตัวเองอยู่มากมายมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ถึงบางคำจะตกยุคหายไปกับกาลเวลาแล้ว ก็ยังคงสรรหาคำใหม่ ๆ ได้จากการสนทนาในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละยุค ทางเว็บไซต์สำหรับคุณผู้หญิงอย่าง Joshi Spa ได้จัดทำการสำรวจจากผู้ใช้งานเว็บไซต์ 100 คน ที่อยู่ในช่วงวัย 30 – 39 ปี ว่าพวกเธอชอบที่จะให้หนุ่ม ๆ ใช้คำเรียกแทนตัวเขาเองว่าอะไร ซึ่งมีดังนี้
อันดับที่ 6 (ร่วม) วั่ย – わい และ โอยระ – おいら (ร้อยละ 1)
เริ่มต้นกันด้วยอันดับล่างสุดของตาราง อย่าง “วั่ย” และ “โอยระ” ที่เราอาจจะคุ้นเคยเมื่อมันออกมาจากปากของชายวัยรุ่นจนถึงวัยกลางคน ที่มาจากท้องถิ่นชนบท หรือตามผลงานแนวแฟนตาซียุคโบราณ แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงว่าเด็กชายในโตเกียว (ที่ป่านนี้คงเป็นคุณปู่คุณตา) ก็ใช้คำเรียกแทนตัวเองด้วยสองคำนี้เช่นกัน แต่ในภาพรวม มันก็ทำให้ดูมีอายุ มีสไตล์แบบเก่า ๆ แก่ ๆ ได้เหมือนกัน
…แต่จิ้งเหลนในภาพประกอบนี้ไม่เกี่ยวอะไรนะ แค่เจ้าตัวเรียกแทนตัวเองด้วยคำว่า “โอยระ” เฉย ๆ
อันดับที่ 5 อุจิ – うち(ร้อยละ 2)
แม้คำนี้จะเป็นคำที่ไม่จำกัดไว้สำหรับเพศใด โดยเฉพาะเราจะได้เห็นผู้หญิงจากฝั่งคันไซใช้กันอยู่เนือง ๆ แต่สาว ๆ ที่เข้ามาตอบแบบสอบถามนี้ก็คงมองว่าหากหนุ่ม ๆ ใช้คำนี้ ก็คงดูดีน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
อันดับที่ 4 จิบุน – 自分 (ร้อยละ 3)
ค่อนข้างสุภาพ เป็นทางการกันหน่อยกับ “จิบุน” ที่ฟังแล้วเหมือนกำลังเรียกแทนตัวเองด้วยคำทำนองว่า “ตัวฉันเองนั้น…” มันไม่แปลกหากไปปรากฏอยู่ในการเขียนโต้ตอบ แต่กับการพูดต่อหน้าระหว่างเพศตรงข้ามแล้ว คำนี้อาจทำให้ชายหนุ่มดูเนิร์ด ดูวางระยะห่างขึ้นนิดนึง ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่สาว ๆ ผู้มาตอบแบบสอบถามนี้ต้องการจากหนุ่ม ๆ
อันดับที่ 3 วาตาชิ – 私 (ร้อยละ 12)
สูงสุดกลับสู่สามัญ กับ “วาตาชิ” ที่แม้แต่หนังสือเรียนภาษาญี่ปุ่นเล่มไหนก็สอนให้เรียกแทนตัวเองด้วยคำนี้ทั้งนั้น แต่ในสายตาสาว ๆ ผู้มาตอบแบบสอบถามนี้ คำนี้กลับอยู่ในสถานะคล้าย ๆ กับ “จิบุน” เพราะมันดูเย็นชา เมื่อผู้ชายใช้เรียกแทนตัวเอง
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสำเนียงการพูดด้วยล่ะมั้ง เพราะผู้เขียนเองก็เคยมีประสบการณ์พูดคุยกับหนุ่มญี่ปุ่นที่เรียกแทนตัวเองด้วยวาตาชิ มันก็ไม่ได้ดูเย็นชาอะไรขนาดนั้น
อันดับที่ 2 โบคุ – 僕 (ร้อยละ 30)
คะแนนส่วนหนึ่งเทมาให้ “โบคุ” ซึ่งเป็นอีกคำเรียกแทนตัวเองที่หนังสือเรียนภาษาส่วนใหญ่สอนให้ใช้รองลงมาจากอันดับก่อนหน้า เมื่อพูดแล้วให้ฟีลสบาย ๆ มากกว่า “วาตาชิ” ไม่ค่อยเรียบร้อยเท่า แต่เชื่อหรือไม่ว่าคำนี้ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นฝั่งตะวันออกมากกว่าฝั่งตะวันตก อย่างเช่นในโอซาก้า บางครั้งคนที่เรียกแทนตัวเองว่า “โบคุ” จะถูกมองว่าเป็นหนุ่มเนี้ยบผู้อยากแสดงออกว่าเขานั้นไม่ใช่เด็กน้อยอีกต่อไป
กระนั้น ก็ยังไม่แมนพอในสายตาของสาว ๆ ผู้มาตอบแบบสอบถามนี้ เมื่อเทียบกับลำดับที่ 1 คือ…
อันดับที่ 1 โอเระ – 俺 (ร้อยละ 50)
มาถึงอันดับที่ 1 กับคำที่ไม่เหมือนอันดับก่อน ๆ เพราะมีความแมนแทรกมาอยู่ในทุกอณูของคำ ไม่ว่าจะนำไปออกเสียงแบบไหน ไม่เหมือนกับอันดับก่อนหน้าที่ยังมีความเป็นหนุ่มน้อยผู้พยายามจะเติบโตหลงเหลืออยู่
ทว่า ความหนักแน่นของคำว่า “โอเระ” นั้นไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นอย่างนี้กับทุกการสนทนาเสมอไป อย่าลืมว่าทั้งหมดเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของความเห็นที่มาจากการตอบแบบสอบถามโดยผู้หญิงเพียง 100 คน ว่าอยากจะให้ผู้ชายใช้คำไหนเรียกแทนตัวเอง ไม่ได้มาจากการวิเคราะห์ ทดลอง สำรวจ ใช้ข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ มาอ้างอิง
คำว่า “โอเระ” อาจจะทำให้การเดท หรือกับหญิงสาวที่มีใจให้อยู่แล้วฟังดูเร่าร้อนสมแมน แต่กับเพื่อนร่วมงานที่เพิ่งเจอกัน หรือยังไม่สนิท อาจจะดูมั่นโหนกไปนิดนึง และยิ่งโดยเฉพาะหากจะไปคิดโชว์แมนกับหัวหน้าในที่ทำงานด้วยคำนี้ ถ้าไม่ใช่เป็นที่ทำงานที่ชิลล์ ๆ สบาย ๆ ก็คงลงเอยด้วยการโดนเขม่นอย่างไม่ต้องสงสัย หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นด้วยอะไร เริ่มไปด้วยท่าทางสุภาพ ๆ อย่าง “วาตาชิ” ก็เป็นสิ่งที่ดี ส่วนที่เหลือเก็บไว้ใช้ในวงเพื่อนสนิทก็พอแล้ว
Source: Niconico News via SoraNews24