กลับมาอีกแล้วกับเทศกาลค้นหา easter egg ที่กินเวลาและทุนทรัพย์ แต่มันก็สนุกดี! ฮินะจังน่ารักมากแผล่บ ๆ
ก่อนอื่น บทความนี้มีเนื้อหาและรูปภาพที่อาจเปิดเผยเนื้อหาหลายส่วน (สปอยล์) ของภาพยนตร์ Tenki no Ko (Weathering with You) – ฤดูฝัน ฉันมีเธอ หากเพื่อน ๆ อ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังไม่ได้ดูภาพยนตร์ กรุณาไปชมภาพยนตร์ก่อน ฉายแล้วในโรงภาพยนตร์ที่ร่วมรายการ
แต่หากเพื่อน ๆ คนไหนไม่ซีเรียส หรือได้ดูมาแล้ว หรือเป็นนักบริโภคสปอยล์ ก็ขอแนะนำว่าบทความนี้เมื่อได้อ่านแล้ว นำไปประกอบการตามเก็บรายละเอียดในตัวภาพยนตร์ หรือดูแล้วก็ต่อรอบสอง รอบสาม แล้วสังเกตมุมใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีก ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราจะสามารถสนุกไปกับตัวภาพยนตร์ได้ จะมีประเด็นไหนที่น่าสนใจกันบ้าง ไปดูกัน
.
.
.
.
.
- ธีมหลักของเรื่องคือตำนานของหญิงที่มาพร้อมกับฟ้าสดใส และหญิงที่มาพร้อมกับพายุฝน
ภายในเรื่องมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับตำนานสาวฟ้าใส ที่ปรากฏมาทั้งในรูปแบบของตัวละคร และเป็นเรื่องเล่าตำนานเมืองภายในเรื่อง แต่สิ่งที่อยากจะให้โฟกัสเกี่ยวกับประเด็นนี้ก็คือการที่สาวฟ้าใสนั้นเป็นเครื่องบูชายัญของเทพ
ในเรื่องมีฉากที่หมอดูเป็นผู้เล่าตำนานเมืองให้ฟังว่า “สาวฟ้าใส กับสาวเรียกฝน ถูกเทพลักพาตัวให้มาพบกัน” อีกทั้งยังมีฉากที่คุณปู่ผู้รู้อธิบายว่า “มิโกะแห่งสภาพอากาศเป็นเครื่องสังเวย” ซึ่งทั้งสองประเด็นในเรื่องนี้จะบอกเราว่า หากสาวฟ้าใสหายไปจากโลกแล้วจะเป็นอย่างไร?
ซึ่งก็ตรงกับที่ปรากฏในเรื่อง ที่ว่า “ฮินะ” นางเอกของเราเมื่อทำการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สิ่งแลกเปลี่ยนที่เธอต้องแบกรับคือการถูกเทพพาตัวไป เรื่องราวที่หมอดู และคุณปู่พูดไว้จึงเป็นการบอกล่วงหน้าให้คนดูได้รับทราบไปในตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ เรื่องเลย
อนึ่ง มีเกร็ดเล็กน้อยที่อยากจะเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำนานเทพดังนี้
– ความเกี่ยวข้องระหว่างทั้งสองสาวคือ สาวฟ้าใสเกี่ยวกับเทพอินาริ (เทพแห่งการเกษตร) ส่วนสาวเรียกฝนเกี่ยวกับเทพมังกร (เทพที่บันดาลพายุฝน เมฆ หิมะ สภาพอากาศ) ทั้งสองหญิงถูกเทพลักพาตัวให้มาพบกัน
– มิโกะแห่งสภาพอากาศ คือตัวตนที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นดินและสวรรค์เอาไว้ ซึ่งสมัยก่อน แต่ละหมู่บ้านจะมีมิโกะแห่งสภาพอากาศแห่งละคน และสิ่งแลกเปลี่ยนที่จะต้องสังเวยให้กับเทพเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คือชีวิตของมิโกะนั้น
- คำบอกเล่าของหมอดู บอกใบ้ลักษณะนิสัยของตัวละคร
ในฉากที่นัทสึมิและโฮดากะไปหาหมอดู ซึ่งเธอได้เล่าให้ฟังว่าสาวฟ้าใสกับสาวเรียกฝนนั้นมีบุคลิกและลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน โดยสาวฟ้าใสนั้นจะเป็นสาวสวย เห็นอกเห็นใจคนอื่น แต่ไม่มีความเป็นผู้นำ ซึ่งตรงกับนิสัยของฮินะพอดี
แล้วนิสัยของสาวเรียกฝนล่ะ เป็นอย่างไร… แล้วนิสัยของตัวโฮดากะ พระเอกของเราล่ะเป็นอย่างไร?
- หรือโฮดากะจะเป็นชายเรียกฝน?
หลังจากที่ฮินะถูกพาขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้า โฮดากะก็พยายามที่จะพาฮินะกลับมาให้ได้ จึงมุ่งหน้าไปที่ศาลเจ้าบนตึกร้าง แต่จังหวะที่โฮดากะผ่านหมู่เมฆไปหาฮินะนั้น แทนที่เราจะได้เห็นท้องฟ้าสดใสเหมือนอย่างที่ฮินะเคยขึ้นไปครั้งแรก กลับเป็นพายุฝน ท้องฟ้ามืดดำ และเจ้าตัวก็ถูกเมฆกลุ่มหนึ่งที่มีรูปทรงยาวคล้ายกับมังกรกลืนเขาเข้าไป
ย้อนไปที่ข้อ 1 ที่กล่าวไว้ว่าสาวฟ้าใสเกี่ยวข้องกับเทพอินาริ ส่วนสาวเรียกฝนนั้นเกี่ยวข้องกับเทพมังกร
บางที โฮดากะอาจจะกลายเป็น “ชายเรียกฝน” ตั้งแต่ตอนที่เดินผ่านซุ้มประตูโทริอิแล้วก็เป็นได้
- ความหมายของชื่อเรื่อง Tenki no Ko
เรื่องนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Weathering With You”
คำว่า “Weather” มีความหมายว่าสภาพอากาศก็จริง แต่จากบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับชินไค บอกว่ามันยังหมายถึง “การข้ามผ่านลมพายุ เพื่อไปพบกับพายุหิมะ” หรือ “การก้าวข้ามความยากลำบาก เพื่อเจอความลำบากที่ยิ่งกว่า”
ส่วน “With You” นั้นก็ “กับเธอ” “กับพวกเรา” ได้ทั้งสองอย่าง ตามที่ผู้กำกับบอก
- บริษัทรับจ้างไล่ฝน กับความเชื่อมโยงตำนานขอฝนในยุคโบราณ
นอกจากเรื่องตำนานเทพอินาริและเทพมังกรที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ญี่ปุ่นยังมีตำนานอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับเรื่องฟ้าฝนนี้อีกด้วย
อย่างเช่นในฉากที่ก๊วนสามหน่อร่วมมือกันเปิดธุรกิจสตาร์ทอัพรับจ้างไล่ฝน มีฮินะเป็นคนรับบทเปรียบเสมือนมิโกะไล่ฝน นากิสวมชุดตุ๊กตาไล่ฝน กระโดดหยองแหย็…. อะแฮ่ม ร่ายรำไล่ฝนจนดังไปทั่ว SNS มีผู้คนมากหน้าหลายตาแวะเวียนกันมาจ้างงาน ช่างคล้ายกับเรื่องราวของชิซุกะโกเซ็น ที่ไปร่ายรำ ณ บึงชินเซ็นเอ็น ก่อนจะได้พบ และมาเป็นภรรยาของโยชิสึเนะ (อุชิวากะมารุ)
….ต่างกันที่ว่าชิซุกะโกเซ็นเขารำขอฝน แต่อันนี้ไล่ฝนอ่ะนะ
- ฉากที่มีสัตว์น้ำน้อยใหญ่ตกลงมาจากท้องฟ้าราวกับสายฝน
ถึงจะไม่ใช่สัตว์ปกติ แต่ก็เป็นสัตว์วิเศษจากฟากฟ้าที่เป็นก้อนน้ำรูปร่างคล้ายปลาที่ตกลงมาปะปนกับสายฝน ซึ่งดูคล้ายกับปรากฏการณ์ Fafrotskies (ย่อมาจาก FAlls FROm The SKIES) ที่มีสัตว์บกบินไม่ได้ร่วงลงมาจากท้องฟ้า (ถ้าใครนึกไม่ออกให้นึกถึงฉาก “ฝนกบ” ในโจโจ้ภาค 6) ซึ่งในบันทึกทางประวัติศาสตร์มีระบุไว้ว่าเคยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ อย่างเช่นฝนปลาที่สิงคโปร์ ฝนกบที่กรีซ ฝนลูกอ๊อดในญี่ปุ่น เป็นต้น
ถึงจะเคยกล่าวกันไว้ว่าเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีครั้งใดเลยที่เคยถูกพบ หรือมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
- ที่มาของชื่อเรื่อง Tenki no Ko
ในวันหนึ่ง คนเราจะได้พูดคำว่า “สภาพอากาศ” กันกี่ครั้งนะ?
นั่นคือสิ่งที่ผู้กำกับชินไคนึกสงสัยขึ้นมา ประกอบกับได้ฟังเพลง “Tenki Yohou no Koibito” (คู่รักพยากรณ์อากาศ) ของ CHAGE and ASKA ในอัลบัม “PRIDE” เลยลองมาตั้งชื่อเป็น “Tenki Yohou no Kimi” (ตัวเธอผู้พยากรณ์อากาศ)
แต่ก็คิดว่าเรื่องนี้มันไม่เกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศ เลยลดลงมาเหลือ “Tenki no Kimi” (เธอแห่งสภาพอากาศ) แต่ก็ยังไม่ใช่ ปรับอีกนิดอีกหน่อย จนเกิดเป็น “Tenki no Ko” ในที่สุด แถมโปรดิวเซอร์ คุณคาวามุระ ยังเห็นด้วย เพราะเป็นคำสั้น ๆ ง่าย ๆ จะมีความหมายมากกว่า
- แต่ชื่อที่ใช้ในการสร้าง กลับเป็นอีกชื่อหนึ่ง ที่ไม่ปรากฏในขณะสัมภาษณ์
จากแผ่นพับโปรโมทภาพยนตร์ มีหน้าหนึ่งที่ลงแผนผังออฟฟิศของสึกะ และห้องของฮินะเอาไว้ โดยที่มุมขวาล่างมีเขียนชื่อเรื่องไว้ว่า “Tenkiame no Kimi” (天気雨の君 – เธอผู้มาพร้อมฝน) เสียอย่างนั้น
- นากิ ตัวละครเพลย์บอยตัวแรกในงานชินไค
ตัวละครน้องชายของนางเอก Amano Nagi นั้น ถึงตัวจะเป็นเด็กประถม แต่ท่าทางการพูดจานั้นเหมือนกับผู้ใหญ่ แถมยังฮอตในหมู่สาว ๆ ในเรื่องด้วย
และไม่ใช่ว่าใส่ความเพลย์บอยเข้ามาเปล่า ๆ เพราะยังมีฉากที่นากิหนีจากสถานสงเคราะห์เยาวชนออกมาหาและช่วยเหลือโฮดากะ นั่นก็อาศัยความช่วยเหลือจากหนึ่งในเด็กผู้หญิงที่เป็นแฟนคลับของเขา ในการปลอมตัวเป็นนากิหลอกตาเจ้าหน้าที่
- ไม่ใช่แค่หนุ่มเพลย์บอยคนแรก แต่ยังเป็นตัวละครแต่งแทรปคนแรกด้วย
หรือที่เรียกกันว่า 男の娘 หรือ trap นับเป็นครั้งแรกในผลงานของชินไค จากฉากที่แลกชุดเดรสกระโปรงกับเพื่อนสาว (หรือที่สาวเจ้าเคลมว่าเป็นแฟนเก่า?) เพื่อปลอมตัวหลบหนีจากสถานสงเคราะห์เด็กมาช่วยเหลือโฮดากะ ที่กำลังถูกตำรวจรวบตัว
- คำโกหกของฮินะ เรื่องอายุที่แท้จริงของเจ้าตัว
ถึงตอนที่ฮินะบอกกับโฮดากะเกี่ยวกับอายุของเจ้าตัวนั้น จะบอกว่า “อีก 2 อาทิตย์ก็จะ 18 แล้ว” แต่จริง ๆ อายุของเธอนั้นคือ 15 ปี อาจเป็นเพราะต้องปลอมอายุเพื่อให้สามารถทำงานรับจ้างได้
ประกอบกับที่เจ้าตัวมีนิสัยตรงไปตรงมา เวลาที่ต้องโกหกซึ่งผิดวิสัยของตัวเอง วิธีการแสดงออก การพูดจา ก็จะต่างไปจากเดิมด้วย สมกับที่เป็นสาวฟ้าใสจริง ๆ
- เมนูฮิตฝีมือสาวฟ้าใส ทั้งข้าวผัด และสลัดผัก มีขายจริง ๆ ด้วยนะ!
เมนูข้าวผัดที่ฮินะทำต้อนรับการมาเยือนที่ห้องครั้งแรกของโฮดากะ ที่เราเคยได้นำเสนอไปแล้วทางเพจและในเว็บไซต์ เป็นข้าวผัดใส่มันฝรั่งทอดพร้อมกับไข่แดงสีสันสดใส นอกจากนี้ยังมีอีกหนึงเมนูคือสลัดผักใส่บะหมี่สำเร็จรูป เรียกว่าเป็นเมนูแป้งเยอะแบบแปลก ๆ เหมาะสำหรับวัยใช้พลังงานดี แต่สำหรับข้าวผัดนี่อร่อยทีเดียวเชียว
- เพลงนี้ที่คุ้นเคยจริงจัง มาดูหนังก็ยังได้ยิน
ในฉากที่สามหน่อเข้าไปพักที่โรงแรมจากการหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตกดึกคืนนั้นพวกเขาได้เจอกับคาราโอเกะ จึงสนุกกันในห้องพัก เพลงที่สองหนุ่ม โฮดากะและนากิร้องด้วยกัน คือเพลง Koisuru Fortune Cookie ของ AKB48 หรือที่ในไทยของเราใช้ชื่อว่า “คุกกี้เสี่ยงทาย” ร้องโดย BNK48 ส่วนทางฝั่งฮินะ ก็ร้องเพลง Koi ของ Hoshino Gen เพลงประกอบละคร NigeHaji (2016) ที่เคยโด่งดังในกลุ่มคนที่ชื่นชอบซีรีส์ญี่ปุ่นในไทยเมื่อไม่กี่ปีก่อน แถมเจ้าตัวยังเต้นท่า Koi Dance อีกด้วย
- สึกะ ชายหนุ่มผู้เติบโตมาบนเส้นทางเดียวกับโฮดากะ ต่างแค่วัยและความรับผิดชอบที่ต้องแบก
หากพูดถึงสึกะ พ่อลูกอ่อนที่เปิดสำนักพิมพ์นิตยสารแนวลี้ลับ โดยมีนัทสึมิ หลานสาววัยมหาลัยมาช่วยงาน ก็จะเห็นว่าฉากนึงมีลูกสาวของเขาที่ชื่อว่า “โมกะ” ปรากฏอยู่ในเรื่องด้วย ส่วนแม่ของน้อง ชื่อว่าอาสึกะ ภรรยาของสึกะที่เสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้าเหตุการณ์ในเรื่อง ด้วยอุบัติเหตุ
ในฉบับนิยายเล่าว่า ในฉากที่ตำรวจมาที่บ้านของฮินะ สึกะที่อยู่ในรถกับโฮดากะบอกว่า หลังจากที่ภรรยาเขาเสียไป เขาก็กลายมาเป็นคนล้มเหลวอีกครั้ง จากผลกระทบทางจิตใจ แม้แต่กระดาษโน้ตที่ภรรยาติดไว้กับตู้เย็นก่อนตาย เขาก็ไม่เอาออก ปล่อยทิ้งไว้แบบนั้น
กระทั่งฉากที่คุณตำรวจพูดถึงโฮดากะว่า “มีคนที่อยากเจอถึงขนาดนั้นเนี่ย น่าอิจฉาจังเลยนะ” ก่อนที่จะมองรอยขีดวัดส่วนสูงลูกสาวบนกำแพง แล้วสึกะก็น้ำตาไหลพราก ก็คงกำลังคิดถึงลูกสาวที่เจ้าตัวยอมทุ่มทุกอย่างเพื่อที่จะให้ได้มาอยู่ด้วยกัน รวมไปถึงภรรยาที่จากไปของเขา และคำพูดที่บอกกับโฮดากะว่าให้ตั้งสติ (ก่อนที่จะต่อยโฮดากะ) ที่ตึกแองเจิล นั่นก็คงเตือนสติตัวเองให้ใจเย็นด้วย เพราะเห็นว่าโฮดากะกำลังเป็นเหมือนกับตัวเองกำลังเป็น คือเสียสติเพราะอยากพบกับคนที่ตัวเองรัก
ฉะนั้น เหตุผลที่เจ้าตัวไม่ได้อยู่ด้วยกันกับลูกสาว น่าจะเป็นเพราะฝ่ายสึกะยังทำใจ และทำตัวให้ดีไม่ได้เองเสียมากกว่า ทำให้ไม่พร้อมที่จะดูแลลูก ทั้งสูบบุหรี่ กินเหล้า (แถมเกือบตกเป็นผู้ต้องหาคดีลักพาตัว) และไม่มีใครเชื่อถือว่าเขาจะเป็นพ่อที่ดีที่สามารถดูแลลูกได้นั่นเอง แม้เจ้าตัวจะพยายามเลิกอบายมุขทั้งหลายนี้แล้วก็ตาม
แต่ขอที่ยืนให้คุณพ่อที่น่ารักคนนี้หน่อย ถึงแม้จะปากสุนัขแถมยังไถตังค์เด็กมากินข้าวกินเบียร์ตั้งแต่ยังไม่รู้จักชื่อกัน แถมยังจ้างด้วยค่าแรงสุดถูกยิ่งกว่าโรงงานนรกหลายเจ้า แต่ก่อนที่จะจากกัน เจ้าตัวก็ให้เงินเลิกจ้างโฮดากะครึ่งแสนเลยเชียวนะ …..ซึ่งก็น้อยอยู่ดี แบล็คเกินไปแล้ว
- จริง ๆ แล้วนัทสึมิทำงานอะไร?
ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกกับนิสัยที่ดูจะออกไปหางานลำบากแล้ว เป็นเพราะเธอโตมาเจอกับยุคแช่แข็งในการหางาน (就職氷河期 – ยุคที่การจ้างเป็นพนักงานประจำมีน้อยลง ส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาจ้างจำกัดระยะเวลา) หรือเปล่า? และจากที่สัมภาษณ์งานถี่ ๆ จนแทบสติแตก ก็คงจะลำบากน่าดู แถมท้ายเรื่องยังอาจจะไปพังโอกาสการหางานของตัวเอง ด้วยการยื่นมือเช้าช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดีพกพาอาวุธปืน (โฮดากะ) แถมยังช่วยเหลือในการหลบหนีจนถูกตำรวจรวบอีกด้วย ….แต่เจ้าตัวก็แอบนึกอยากจะไปเป็นตำรวจทางหลวง เพราะทักษะการซิ่งของตัวเองนะ
แม้ทั้งในฉบับภาพยนตร์และนิยายจะไม่ได้บอกรายละเอียดเอาไว้ชัดเจน แต่ช่วงไทม์สคิป 3 ปี ก็ไม่ได้เผยไว้ชัดเจนว่าเจ้าตัวยังช่วยงานสึกะ (ที่บริษัทดูจะเติบโตน่าเชื่อถือขึ้น) หรือทำอะไรอยู่บ้าง นอกเสียจากจะคอยช่วยดูแลลูกสาวของสึกะแล้ว ถ้าไม่บอกว่าทำงานธุรกิจครอบครัว ก็คงบอกได้ว่าเป็นนีทล่ะมั้ง? แถมท่าทางว่ามอเตอร์ไซค์ และหมวกสีชมพูคาดแถบขาวของเจ้าตัว ก็ถูกลุงสึกะยึดไปอีก
อนึ่ง ในปีที่นัทสึมิออกไปหางาน ก็เป็นช่วงเดียวกับที่ทาคิเพิ่งเรียนจบ และกำลังหางานทำเหมือนกัน
- คุณตำรวจทั้งสอง ที่สอดคล้องกันแบบคนละขั้ว
ภายในเรื่อง ตั้งแต่ที่มีประเด็นของปืนเถื่อนเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เป็นหน้าที่ของนายตำรวจต่างวัยทั้งสองที่ต้องออกโรง ซึ่งมีจุดที่เห็นแล้วผู้เขียนอดขำไม่ได้ (เส้นตึ้น) อยู่ที่ว่า
ชื่อของคุณตำรวจรุ่นพี่ (คุณลุงแก่ ๆ) คือ ยาสึอิ Yasui (安井) ที่แปลแบบแถ ๆ ได้ว่า “(ราคา)ถูก”
ส่วนชื่อของคุณตำรวจรุ่นน้อง (ชายหนุ่มไว้ผมทรงรีเจนท์) คือ ทาคาอิ Takai (高井) เช่นกัน ที่แปลได้ว่า “(ราคา)แพง” …เพราะไม่ใช่ตัวละครหลักหรือเปล่าเลยตั้งชื่อเหมือนเล่นโจ๊กแบบนี้?
ส่วนเรื่องความคนละขั้วกันของทั้งสองนั้นอาจจะพบเห็นได้จากหลายฉากภายในเรื่อง อย่างเช่นตอนที่ทั้งคู่กินบะหมี่ ตำรวจรุ่นพี่จะนั่งทานราเม็งร้อน ๆ ในขณะที่รุ่นน้องจะยืนทานหมี่เย็น หรือไม่ก็ในฉากที่กำลังจะจับตัวโฮดากะในตึกแองเจิล ที่ตำรวจรุ่นพี่เลือกที่จะไม่เล็งปืนใส่โฮดากะในทีแรก ส่วนตำรวจรุ่นน้องก็คิดจะใส่เดี่ยวท่าเดียวอยู่ตลอดเวลา
- เพื่อนสาวของนากิ ก็มีชื่อเหมือนกันนะ แถมมีชื่อเดียวกับนักพากย์เสียอย่างนั้น!?
พูดถึงความฮอตของเจ้าหนูเด็กประถมที่มีฉากแต่งหญิงแล้ว ก็ต้องนึกถึงเพื่อนสาวสองคนที่มาจากสถานสงเคราะห์เยาวชน ซึ่งชื่อของทั้งสองนั้นคือ Hanazawa Ayane (ให้เสียงโดย Sakura Ayane) และ Sakura Kana (ให้เสียงโดย Hanazawa Kana) และแน่นอน ข้อนี้คือมุกนักพากย์เต็ม ๆ
ในทั้งสองฉบับมีจุดที่แตกต่างกัน เริ่มด้วยฉากที่ทั้งสองมาหานากิที่สถานสงเคราะห์เยาวชน ในฉบับแอนิเมชันเราจะได้เห็น Ayane ยืนมองสมุดลงชื่อผู้เข้าเยี่ยม มีชื่อของ Sakura Kana อยู่ก่อน ส่วนในฉบับนิยายนั้น ทั้งคู่มีซีนปะทะกันในฐานะแฟนเก่าและแฟนใหม่ของนากิ จึงเกิดการเขียนชื่อสลับชื่อเพื่่อกลั่นแกล้งกันและกัน กลายเป็น Hanazawa Ayane และ Sakura Kana ไปเสียอย่างนั้น
อนึ่ง คุณ Sakura Ayane เคยให้เสียงสาวแว่นตัวเอกโฆษณาชุด Crossroad ที่ทำมาโปรโมทโรงเรียนกวดวิชา Z-Kai และคุณ Hanazawa Kana ก็เคยมาให้เสียงตัวละครคุณครู Yukino Yukari นางเอกในเรื่อง Kotonoha no Niwa และเคยไปปรากฏตัวใน Kimi no Na wa. ด้วย
- เกาะที่โฮดากะอาศัยอยู่นั้น อยู่ที่ไหน?
ในฉากที่โฮดากะเรียนจบ ม.ปลาย บนกระดานดำในห้องเรียนนั้นเขียนว่าโรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะ “โคซุจิมะ” (神津島) โตเกียว
ซึ่งการเดินทางนั้นสามารถนั่งเรือ “Salvia Maru” เดินทางผ่านเกาะโอชิมะ เกาะโทชิมะ เกาะนิอิจิมะ เกาะชิคิเนะ ก่อนจะถึงเกาะโคซุชิมะ โดยที่เรือใหญ่จะใช้เวลาราว 10 ชั่วโมง ซึ่งตรงกับในฉบับนิยายมีระบุไว้ว่านั่งเรือ 10 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเรือเจ็ท ก็จะใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงกว่า ๆ เท่านั้น
- ทวิตชวนไปทำตุ๊กตาไล่ฝนของชาวเน็ตที่ปรากฏในเรื่อง เป็นของจริง
ทวิตเตอร์ที่ปรากฏในเรื่อง และใน MV ของ Radwimps ที่ชวนทุกคนไปทำตุ๊กตาไล่ฝนนั้น มีอยู่จริง คือบัญชีทวิตเตอร์ @vocal_bandd27, @ochial_bestie, @chikaco02 และ @yui_tanaka0611 ซึ่งส่วนใหญ่ (หรือทั้งหมด?) อาจเป็นบัญชีของทีมงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อโปรโมทเรื่องนี้โดยเฉพาะก็เป็นได้
- นิยายที่โฮดากะอ่าน ก็มีเป็นเล่มจริง ๆ นะ
ตอนที่โฮดากะนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่มังงะคาเฟ่ หนังสือที่เขาอ่านคือ “จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น” หรือ The Catcher in the Rye ของ เจ.ดี.ซาลินเจอร์ และชื่อนี้ก็สมกับเป็นบทบาทของโคดากะที่รับฮินะลงมาจากฟากฟ้าจริง ๆ
- จุดแตกต่างในฉบับนิยาย และฉบับภาพยนตร์
หากเทียบกันแล้วในฉบับภาพยนตร์นั้นมีความแตกต่างกับฉบับนิยายในเรื่องของรายละเอียดอยู่พอสมควร
รายละเอียดที่ว่า เช่นเหตุผลการหนีออกจากบ้านของโฮดากะ ที่ในฉบับภาพยนตร์ไม่บอกเหตุผล แต่ในนิยายบอกว่าทะเลาะกับพ่อจึงหนีออกมา, เจ้าฝนไม่ได้ถูกโฮดากะรับมาเลี้ยงช่วงเวลาเดียวกับภาพยนตร์, ฉากเลี้ยงฉลองในสำนักงานของสึกะ ที่ในฉบับนิยาย โฮดากะจะดื่มโคล่า ส่วนในฉบับภาพยนตร์นั้นเปลี่ยนเป็นเครื่องดื่ม CC Lemon ของทาง Suntory (…พลังแห่งการโฆษณา) เป็นต้น
ดังนั้น ทางที่ดีควรเสพทั้งสองอย่าง เพื่อเข้าถึงอรรถรสอย่างเต็มที่ และก็ประจวบเหมาะที่ฉบับนิยายได้ตีพิมพ์และจัดจำหน่ายแบบถูกลิขสิทธิ์ในไทยโดยสำนักพิมพ์ Phoenix
- สถานที่ในโลกจริงที่ถูกอ้างอิงไปใช้ในเรื่อง
– เรือ Salvia Maru ที่เดินทางระหว่างโตเกียวและเกาะโคซุจิมะ
– ตึกโยโยกิไคคัง หรือที่เรียกชื่อเล่นกันว่าตึกแองเจิล คือตึกที่มีศาลเจ้าบนดาดฟ้า (ปัจจุบันตึกถูกปิดถาวรไปแล้ว)
– ศาลเจ้า อาซาฮิอินาริ บนดาดฟ้าตึก
– ร้านราเมง เทนกะอิปปิน ที่คาบุกิโจ ที่ตำรวจสองนายกำลังสอบถามโฮดากะ ขณะหลบหนีไปกันสามคน
– ทางลาดฟุโดซากะ ทางทิศตะวันออกของสถานีทาบาตะ โตเกียว เป็นสถานที่สำคัญในเรื่องเลยทีเดียวเชียว
– ศาลเจ้าคิโช ที่สถานีโกเอนจิ โตเกียว
– ทางลาดโนโซกิซากะ แขวงโทชิมะ โตเกียว
….ใช่แล้ว ทางลาดเดียวกับที่อยู่ในฉากนางเอกของ Saenai Kanojo no Sodatekata นั่นแหละ
– ทางม้าลายชิบุยะ
– ตึกโมริทาวเวอร์ รปปงงิฮิลส์
– ร้านมังงะคาเฟ่ มัมโบ สาขาถนนยาสุคุนิ ชินจุกุ
– หน้าตึกอาตามิบิลด์ คาบุกิโจ ที่โฮดากะเจอเจ้า “อาเมะ” ครั้งแรก ก่อนที่จะโดน “คิมุระ” แมวมองคลับเฮาส์แกล้งเอา
– สะพานชินจุกุโอการ์ด
– ยามาบุกิ ชินจุกุ ที่ตั้งของออฟฟิศ K&A Planning ที่โฮดากะมาสมัครงาน (มีบอกในนิยาย)
– สนามฟุตบอลในสวนทาเทคาวะ คะเซ็นจิคิ ….ที่โฮดากะได้รับการชี้แนะจากรุ่นพี่นากิครั้งแรก แต่ภาพนี้มาจากโฆษณานะ
- การปรากฏตัวของ ทาจิบานะ ทาคิ

แม้ Tenki no Ko จะเป็นเรื่องของเด็กหนุ่ม ม.4 ที่เข้าเมืองหลวงมาหางานทำอย่างโฮดากะ และได้พบพานกับเด็กสาวที่มาพร้อมกับอากาศสดใส 100% อย่างฮินะก็ตาม แต่ภายในเรื่องมีฉากหนึ่งที่พวกเขารับงานจ้างให้เสกฟ้าใสโดยหญิงชราคนหนึ่งที่มีชื่อว่า “ทาจิบานะ ฟุมิ” เพราะเป็นช่วงโอบ้งที่เธออยากทำพิธีทางศาสนาให้กับสามีที่จากไป ก็ได้พบกับหลานชายของคุณย่าฟุมิ นั่นคือ “ทาคิ” ตัวเอกจาก Kimi no Na wa. ที่มาเยี่ยมคุณย่าในช่วงโอบ้งพอดีเช่นกัน
แถมตอนที่ได้รู้เรื่องของโฮดากะ คุณทาคิยังบอกว่า “เด็กมัธยมเหรอ” อีกเนี่ย กำลังทำตัวเป็นคนแก่ ที่คิดถึงช่วงเวลานั้นของตัวเองหรือยังไงกันนะ?
- และแน่นอน มิยามิซุ มิทสึฮะ ก็มา
ในตอนที่โฮดากะกำลังเลือกของขวัญวันเกิดให้ฮินะ อยู่ที่ตึกลูมิเนะชินจุกุ โดยมีคำแนะนำจากนากิ น้องชายของฮินะแนะนำว่าให้ซื้อแหวนนั้น หลังจากที่ลังเลอยู่นานจนกระทั่งมีเสียงจากพนักงานร้านบอกขึ้นมาว่า “ถ้าให้เป็นของขวัญอีกฝ่ายคงจะดีใจน่าดูเลยนะคะ” แถมยังบอกว่า “พยายามเลือกของขวัญมาตั้งสามชั่วโมงแบบนี้ ถ้าฉันเป็นคนรับล่ะก็คงดีใจมาก ๆ เลยค่ะ” อีกด้วย (ซึ่งบทในเรื่องนี้เธอก็ได้พูดแค่นี้แหละ)
เจ้าของคำพูดเหล่านั้นไม่ใช่ใคร มิยามิซุ มิทสึฮะ นางเอกจาก Kimi no Na wa. นั่นเอง ไม่เชื่อดูป้ายชื่อ “Miyamizu” สิ และแน่นอนว่าอิมเมจของเธอก็อยู่ในลุคเดียวกับท้ายเรื่อง Kimi no Na wa. อีกด้วย
อนึ่งมีจุดที่น่าสังเกตว่า ตอนที่อยู่เมืองอิโตโมริ อุกกาบาตก็ตกใส่จนทั้งหมู่บ้านกลายเป็นบึงขนาดใหญ่ พอมาอยู่โตเกียว ฝนก็ตกจนโตเกียวเป็นทะเลไปครึ่งนึง เธอนี่มันนักสร้างแหล่งน้ำในตำนานชัด ๆ อย่าบอกนะว่าที่ฝนตกรัว ๆ ใน Kotonoha no Niwa นั่นก็ฝีมือเธอเหมือนกัน?
- แล้วคู่ทาคิกับมิทสึฮะมีชะตากรรมอย่างไร? หลังจบ Kimi no Na wa.
อย่างที่บอกไปในข้อก่อนหน้าว่าทาคิมาอาศัยอยู่ที่บ้านคุณย่าฟุมิ ส่วนมิทสึฮะทำงานอยู่ร้านขายเครื่องประดับที่โฮดากะไปใช้บริการ ในตอนท้ายของเรื่อง โฮดากะเดินทางกลับไปที่เกาะ เรียนจนจบ ม.ปลาย แล้วกลับมาที่โตเกียวอีกครั้ง พร้อมกับได้แวะมาเยี่ยมเยือนคุณย่าฟุมิ ที่ปัจจุบันย้ายออกจากบ้านหลังเดิมเพราะน้ำท่วม มาอยู่ห้องเช่า
ในฉบับนิยาย บรรยายฉากนี้ไว้ว่าในห้องเช่ามีภาพถ่ายครอบครัวของคุณย่า มีทั้งรูปของคุณปู่ที่เสียไปแล้ว และ “รูปถ่ายงานแต่งของหลานชาย” ซึ่งตรงนั้นอาจเป็นการบอกให้เราทราบว่าสมาชิกครอบครัวคนหนึ่ง ที่มีนามสกุลเดิมว่า “มิยามิซุ” ได้เปลี่ยนเป็น “ทาจิบานะ” แล้ว
แถมที่มือขวาของคุณย่า ยังมีคุมิฮิโมะ (เชือกถัก) ของบ้านมิยามิซุอยู่ด้วย (…แต่คงมองยากหน่อย เพราะซับไตเติลบังภาพจนเกือบหมด)
- มาแต่พระนางคงไม่ใช่ เพราะมีมากกว่านั้น
ในฉากที่พวกฮินะกำลังเริ่มต้นกิจการไล่ฝนเป็นครั้งแรก จะเห็นเทชชี่และซายะจินอยู่บนชิงช้าสวรรค์ (แต่หันหลังให้ผู้ชม ซึ่งจะต้องสังเกตจากเสียงพากย์และวิธีการพูดคุยของทั้งสองเอง) ส่วนยตสึฮะ โผล่มาในกลุ่มนักเรียน 3 คนที่กำลังยืนมองท้องฟ้าสดใสหลังฝนตกจากที่ฮินะได้ถูกดึงตัวไปบนท้องฟ้าแล้ว ….และรุ่นพี่โอคุเดระ ที่โผล่มาในฉากเดียวกับที่โฮดากะกำลังเลือกซื้อแหวน
รวมถึงฉากหนึ่งที่เป็นหน้าคอลัมน์ในนิตยสาร ตีพิมพ์ว่า “วันที่ดาวหางตกลงมาบนโลก Part 6” แถมยังเขียนไว้ชัดเจนอีกว่าเป็นดาวหางเทียแมต ที่ตกลงในเมืองอิโตโมริ เมืองที่พวกมิทสึฮะอาศัยอยู่ใน Kimi no Na wa. นั่นเอง
- ไทม์ไลน์และอายุตัวละคร เทียบระหว่าง Kimi no Na wa. และ Tenki no Ko
ภายในทั้งสองเรื่องมีสิ่งที่ทางผู้จัดทำซ่อนเอาไว้อย่างแนบเนียน และไม่ยากเกินไปที่จะตรวจสอบว่าเป็นจริงหรือไม่ อย่างเช่นเรื่องของกาลเวลาภายในเรื่อง ที่มักจะมีซ่อนไว้ตามจุดต่าง ๆ เช่นกระดานดำในห้องเรียนบ้าง วันที่บนหน้าจอมือถือบ้าง ปฏิทินในห้องทำงานของสึกะบ้าง เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อลองเทียบระยะเวลา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสองเรื่องแล้ว พอจะสรุปเบื้องต้นได้ดังภาพข้างบนนี้
2013/10/03 – มิทสึฮะโดดเรียนไปหาทาคิที่โตเกียว – ทาคิ ม.2 (14) มิทสึฮะ ม.5 (17)
2013/10/04 – อุกกาบาตตกที่เมืองอิโตโมริ
2016/09/02 – เริ่มสลับร่างกัน – ทาคิ ม.5 (17) มิทสึฮะ หากยังมีชีวิตอยู่ (20)
เรื่องราวทั้งหมดข้างบนนี้เกิดขึ้นในเดือนกันยายนของทั้งสองช่วงเวลา ก่อนที่จะถึงวันเดท
2016/10/03 – ไปเดทกับรุ่นพี่โอคุเดระ
2016/10/21 – เริ่มสลับร่างไม่ได้ ทาคิ (และรุ่นพี่ + ว่าที่สามีรุ่นพี่ในอนาคต) เลยออกเดินทางไปหามิทสึฮะ
หลังจากนั้นคือเหตุการณ์ไคลแมกซ์ของเรื่อง ที่ทำให้ทั้งสองได้เจอกันผ่านช่วงเวลาคาตาวาเระโดคิ
2021/10/04 – ทาคิเริ่มหางานทำ (นัทสึมิก็เช่นกัน) – ทาคิ ปี 4 (22) มิทสึฮะ หากยังมีชีวิตอยู่ (25)
2021/12/03 – เดินสวนกันไปมาในโตเกียว กับพวกเทชชี่ ซายะจิน มิทสึฮะ
2021 ฤดูร้อน – โฮดากะหนีมาโตเกียว เริ่มธุรกิจไล่ฝนกับฮินะ โตเกียวจม – โฮดากะ ม.4 (16) ฮินะ ม.3 (15)
2022 ~ 2024 ฤดูใบไม้ผลิ – ทาคิกับมิทสึฮะแต่งงานกัน ดังที่ปรากฏรูปภาพในบ้านคุณย่าฟุมิ
2024 ฤดูใบไม้ผลิ (เดือน มี.ค.) – โฮดากะกลับมาพบกับฮินะอีกครั้ง – โฮดากะ ปี 1 (18) ฮินะ ม.6 (17)
อนึ่ง แม้จะบอกว่าตัวหนังจะทำมาเชื่อมจักรวาลกัน แต่เมื่อได้ดูแล้วก็ยังเห็นจุดที่คิดว่ายังไงก็ไม่สามารถเชื่อมกันได้สนิท คือช่วงท้ายเรื่องที่โตเกียวกลายเป็นทะเลไปครึ่งหนึ่งเพราะฝนตกไม่หยุดมา 3 ปี แต่ฉากที่ปรากฏใน Kimi no Na wa. นั้น คือฉากการวิ่งตามหากันของทาคิและมิทสึฮะในโตเกียวที่ท้องฟ้าสดใสแดดเปรี้ยงเหมือนไม่เคยมีพายุฝนมาก่อน และแน่นอนว่าทั้งคู่ยังใช้บริการรถไฟในโตเกียว ซึ่งใน Tenki no Ko นั้น ระบบรถไฟแทบทั้งหมดจมอยู่ใต้น้ำหมดแล้ว และชาวเมืองโตเกียวต้องใช้เรือในการโดยสารแทน
จึงมองได้ว่ามันยังไม่ได้เชือมเป็นจักรวาลเดียวกันอย่างสมบูรณ์แบบดังที่หวังไว้ หรืออาจจะเป็นแค่ Easter Egg ตัวละครผลงานก่อนที่ใส่มาขำ ๆ หรือท้ายที่สุดอาจจะเผยออกมาว่า Tenki no Ko เป็นเรื่องที่เกิดหลังจากนั้นอีกนานระดับหนึ่ง ก็เป็นได้
- นิตยสาร Mu กลับมาอีกแล้ว!
หากใครยังจำนิตยสารแนวสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ที่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าใส่ระเบิดของเทชชี่ได้ คราวนี้กลับมาโผล่ให้เห็นอยู่หลายฉากในเรื่องเลย แถมเป็นนิตยสารที่บริษัทของสึกะ ทำบทความตีพิมพ์ลงในนั้นอีกต่างหาก ก็เรียกว่ายืนยันได้ว่าทั้งสองผลงานนี้อยู่ในจักรวาลเดียวกัน (ถึงจะมีจุดใหญ่ ๆ ที่ขัดกันอย่างที่ว่ามาในข้อที่แล้ว)
- มีนักแสดงชื่อดังจากโฆษณามือถือมาปรากฏตัวด้วย
ตัวละคร “คุณพ่อ” สุนัขสีขาวจากบ้านไวท์ (ชิราโตะเกะ) ในโฆษณา Softbank มาร่วมแสดงด้วย คือฉากหน้าร้านมังงะคาเฟ่ ตามภาพ และที่ญี่ปุ่นยังมีแคมเปญให้ร่วมกันหาตัวคุณพ่อในหนังด้วย เพราะที่ญี่ปุ่นโฆษณาชุดนี้ถือว่าอยู่คู่สังคมมานานจริง ๆ
- และมีตัวละครอื่น ๆ นอกจากผลงานชินไคมาร่วมแจมด้วย! แต่ในฐานะคอสเพลย์งานการ์ตูนนะ
ในช่วงที่พวกตัวเอกรับงานไล่ฝน ครั้งหนึ่งมีนายจ้างเป็นผู้จัดงานการ์ตูนที่ไม่ต้องการให้ฝนตก ในฉากหลังนั้นมีคอสเพลเยอร์ในชุด Cure Black กับ Cure White จาก Futari wa Pretty Cure! และยังมีคอสเพลเยอร์ในชุดเครื่องกรองน้ำ Aqua ใน KonoSuba เดินในฉากหลังให้เห็นด้วย
ไม่แน่ว่าอาจจะมีตัวละครอื่นโผล่มาด้วย ใครมองเห็นตัวไหนเพิ่มมาบอกกันได้นะ
ทางผู้จัดทำบทความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลข้างต้นนี้เป็นแค่เพียงส่วนน้อย ของรายละเอียดที่เก็บได้จากการชมภาพยนตร์ Tenki no Ko – ฤดูฝัน ฉันมีเธอ ที่ตอนนี้กำลังฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ เพื่อน ๆ คนไหนไปดูแล้วเจอมากกว่านี้ กลับมาบอกกันบ้างนะ และขอให้สนุกกับการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะรอบแรก หรือรอบสอง หรืออีกหลาย ๆ รอบก็ได้! แต่ตอนนี้ขอตัวไปหาเบอร์เกอร์จากสาวสวยก่อน ไว้พบกันใหม่บทความหน้า สวัสดี!