ผู้ว่าเมืองโกเบขอโรงเรียนหยุดทำพีระมิดมนุษย์ หลังเกิดอุบัติเหตุ 51 เคส แต่ไร้เสียงตอบรับ

2,638 views

โรงเรียนปฏิเสธยกเลิกการต่อตัวพีระมิดมนุษย์ อ้างมันเป็นเรื่องของกีฬา การฝึกซ้อม และความสามัคคี

เมื่อถึงเดือนตุลาคม ก็เข้าสู่เทศกาลกีฬาสีของแต่ละโรงเรียนในญี่ปุ่น เนื่องจากอยู่ในช่วงวันครบรอบ การจัดมหกรรมกีฬาโตเกียวโอลิมปิคเมื่อปี 1964 และถือเป็นวันหยุดเพื่อส่งสริมให้ผู้คนหันมาสนใจการออกกำลังกาย ในช่วงนี้โรงเรียนแต่ละแห่งก็จะจัดเทศกาลกีฬาสีกันขึ้น ให้นักเรียนได้มาร่วมทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งการออกกำลังกาย การแข่งขันกีฬา แข่งเต้นรำ เป็นต้น

กระนั้น ยังคงมีกิจกรรมหนึ่งที่ตกเป็นประเด็นโต้แย้งกันมาเสมอ นั่นคือการ “ยิมนาสติกต่อตัว” (gymnastic formation – 組み体操) ที่นักเรียนแต่ละคนจะต้องมาต่อตัวกันเป็นรูปทรงพีระมิด หรือรูปทรงอื่น ๆ จนสำเร็จเกิดเป็นภาพที่เราเคยเห็นกันว่ามันคือ “พีระมิดมนุษย์”

อย่างเช่นในคลิปนี้ ท่าทางที่คุมะมงและสต๊าฟอีกสองท่านทำ ก็คือหนึ่งในการทำยิมนาสติกต่อตัวเช่นกัน

อย่างที่กล่าวไปย่อหน้าก่อนว่ากิจกรรมนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมญี่ปุ่นมาตลอดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ในเรื่องของความปลอดภัยที่เด็ก ๆ ต้องเสี่ยงกับการได้รับบาดเจ็บ เพื่อแลกกับสิ่งตอบแทนที่เล็กน้อยไม่คุ้มค่า ส่วนฝั่งที่สนับสนุน ก็จะมองว่าเป็นเรื่องของความสามัคคี ความมีวินัยในการฝึกซ้อม ฯลฯ

วิดีโอที่บันทึกภาพการต่อพีระมิดมนุษย์ 10 ชั้น จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในโอซาก้าเมื่อปี 2015 …ที่จบลงด้วยการถล่มลงมา มีเด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บ 6 คน หนึ่งในนั้นกระดูกหัก

นับแค่โรงเรียนในเมืองโกเบเพียงเมืองเดียว ก็มีกรณีได้รับบาดเจ็บจากการทำยิมนาสติกต่อตัวเกิดขึ้นถึง 51 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคมที่ผ่านมา และอีก 123 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 3 ปีก่อนหน้า อาจทำให้เชื่อได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัญหาเล็กน้อยที่ถูกมองข้าม จนกระทั่งมันเริ่มสะสม ก่อตัวขึ้นจนเห็นได้ชัด

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ Hashimoto Kizo ได้ร้องขอให้บอร์ดการศึกษาประจำเมืองโกเบระงับการทำกิจกรรมยิมนาสติกต่อตัว ทว่าคำร้องขอเหล่านี้กลับไม่ถูกรับฟัง เจ้าตัวจึงมาบ่นลงทวิตเตอร์ส่วนตัว เกี่ยวกับการทำหูทวนลมครั้งนี้ และเทียบกับกรณีที่เขาเคยได้พบเมื่อไปเยือนอังกฤษ

“ผมเพิ่งกลับมาถึงออฟฟิศหลังจากที่ได้เดินทางไปอังกฤษ และได้รับรายงานจากบอร์ดการศึกษา เกี่ยวกับการทำยิมนาสติกต่อตัวในเทศกาลกีฬาฤดูใบไม้ร่วงนี้ มีอุบัติเหตุที่ถึงขั้นกระดูกหักเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง หนึ่งในนั้นต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวกว่า 4 สัปดาห์ กับเรื่องนี้มีการแก้ไขอะไรบ้าง? ผมยื่นคำถามไป ได้โปรดเถอะบอร์ดการศึกษา ครูอาจารย์ และครูใหญ๋ของโรงเรียนประถม รวมถึงมัธยมต้น ช่วยมีความกล้าในการยุติเรื่องนี้ที”

มีโรงเรียนเพียง 20 แห่งเท่านั้นที่ยกเลิกการทำยิมนาสติกต่อตัว ส่วนโรงเรียนอื่น ๆ ที่ยังปล่อยให้มีอยู่ ก็อ้างเหตุผลว่าเพราะเด็ก ๆ ฝึกกันมาแล้ว จะไม่ให้ทำก็เสียดาย

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ศจ. Machimura Yasutaka กล่าวถึงกรณีการฝึกซ้อมยิมนาสติกต่อตัว ว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย การปล่อยปละละเลยให้นักเรียนทำยิมนาสติกต่อตัวนั้นอาจเป็นการประทุษร้ายต่อร่างกายและ/หรือ เป็นการกระทำโดยงดเว้นให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อตัวร่างกายหรือถึงแก่ชีวิต ของนักเรียน จากการสนับสนุนให้นักเรียนเอาตัวเข้าเสี่ยงภัยในกิจกรรมที่อันตราย

ชาวเน็ตมีความเห็นหลากหลายต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ดังนี้

“ขนาดผู้ว่ายังออกมาขอร้องให้หยุด โรงเรียนก็ควรรู้ได้แล้วล่ะว่าขาข้างนึงไปอยู่ในคุกแล้ว ถ้าพ่อแม่เด็กฟ้องขึ้นมา”
“บอร์ดของโรงเรียนมันเลี้ยงพวกเต่าถุยที่ห่วงแต่หน้าตาทางสังคมของตัวเองโดยไม่สนใจสวัสดิภาพของนักเรียนเอาไว้ หรือยังไง”
“ต้องให้มีคนตายก่อน ถึงจะสำนึกได้ว่าต้องหยุด”
“ให้บอร์ดการศึกษาพวกนั้นมาทำท่ายิมนาสติกต่อตัวบ้างซิ เผื่อจะรู้ว่ามันปลอดภัยมากแค่ไหน”
“เชื่อเลยว่าจำนวนเด็กที่บาดเจ็บจากไอ้เรื่องแบบนี้มีอีกเพียบ แต่โรงเรียนปิดข่าว”
“พ่อแม่ของเด็กที่บาดเจ็บได้แจ้งตำรวจหรือเปล่า”
“ส่วนตัว ตอนเด็กก็คิดว่ามันสนุกนะ แต่ตอนนั้นเด็กที่ปีนขึ้นไปบนสุด ก็ร่วงลงมาแขนหักเหมือนกัน”

เพราะโรงเรียนหลายแห่งยังเลือกที่จะไม่ลงมือทำอะไรเกี่ยวกับผลลัพธ์ของกิจกรรมนี้ ที่มักจะจบลงด้วยการบาดเจ็บ คาดว่าการเอาข้อกฎหมายเข้ามาปรับใช้อย่างจริงจัง อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดี แม้จะอ้างได้ว่าการทำพีระมิดมนุษย์นั้นต้องอาศัยการฝึกฝน ความพร้อมเพรียง และร่างกายที่แข็งแรง แต่ก็พูดได้เหมือนกันว่าการพิสูจน์สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยบาดแผล หรือการใช้อำนาจทางสังคมบังคับให้ใครต่อใครต้องมาต่อตัวกันเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป และมักจบลงมาด้วยบาดแผลที่มองยังไงก็ไม่คุ้มเสีย

Source: Blogos via SoraNews24