แฟนต่างชาติมองว่าความยึดติดทางภาษา จะเป็นการปิดกั้นตัวเองระหว่างครีเอเตอร์ และแฟนผลงาน
เมื่อพูดถึงงานการ์ตูนสเกลใหญ่ ๆ อย่าง Comiket ที่มีผู้มาร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าทำมือภายในงานหลายหมื่นเซอร์เคิล การจัดระเบียบบูธเหล่านี้จึงเป็นงานยาก อีกทั้งยังเป็นงานที่จัดหลายวัน แต่ฝ่ายผู้จัดเองก็อยู่ในสภาพทำนองคนเล็กเล่นของใหญ่ การบริการในด้านต่าง ๆ จึงไม่ครบถ้วนพอที่จะทำให้ผู้มาร่วมงานได้รับความสะดวกสบาย ลงท้ายจึงจบที่ให้ผู้มาร่วมงานได้เดินเลือกซื้อสินค้าจากแต่ละบูธเอาเอง
เพื่อทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ มันง่ายขึ้น ทางผู้จัดงานจึงได้จัดทำระบบผังบูธขึ้นมา โดยแต่ละบูธจะมีรหัสไว้สำหรับระบุตำแหน่ง ซึ่งสำหรับงานที่จัดมาเกือบร้อยครั้ง คนญี่ปุ่นเองอาจจะคุ้นชินกับระบบผังบูธ ที่ระบุด้วยตัวอักษรญี่ปุ่น ผสมกับตัวเลขไปแล้ว แต่สำหรับชาวต่างชาติที่ไม่ค่อยชำนาญภาษาญี่ปุ่น เรื่องนี้กลายเป็นอุปสรรคในการตามหาบูธเซอร์เคิลขึ้นมา ดังเช่นที่คุณ @richmikan ได้โพสทวิตเตอร์บ่น
I noticed a significant problem with Comic Market. That is "KANA," which are the Japanese alphabets, are used to identify exhibitor locations.
Foreigners who don't know Japanese can't read them. And, they also don't know the alphabet order, which is needed to seek exhibitors.
— Rich Mikan (@richmikan) January 11, 2020
คุณ @richmikan บอกเล่าว่าเขาได้พูดคุยกับชาวต่างชาติที่มาเที่ยวงาน Comiket และได้พบกับปัญหาว่าชาวต่างชาติไม่สามารถอ่านเลขบูธที่ใช้ตัวอักษรคาตากานะได้ (อย่างเช่นบูธ ヨ46a ที่อ่านออกเสียงว่า [โยะ 46 เอ]) อาจด้วยความไม่คุ้นชินกับภาษาญี่ปุ่น แต่ปัญหาด้านการสื่อสารนี้ก็กลายมาเป็นอุปสรรคให้กับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ ในการค้นหาบูธเซอร์เคิลอยู่พอตัว
สำหรับคนที่ชินแล้วมันก็คงไม่ยาก เพราะลำดับบูธสามารถหาได้ง่าย ๆ ด้วยการผันเสียง อย่างเคสนี้ ตัว ヨ (โยะ) จะอยู่หลัง ユ (ยุ) แต่มาก่อน ラ (ระ) ฉะนั้นขอแค่รู้ลำดับการผันเสียงตัวอักษร ก็จะหาลำดับบูธเซอร์เคิลได้อย่างไม่ยากเย็น
จากกรณีดังกล่าว การเปลี่ยนเลขบูธให้เป็นตัวอักษรละตินผสมตัวเลขให้หมดอาจเป็นทางออกที่ง่ายกว่าสำหรับชาวต่างชาติ เพราะชาวญี่ปุ่นเองส่วนใหญ่ก็รู้จักตัวอักษรภาษาอังกฤษจากชั้นเรียนภาคบังคับอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อทวิตของคุณ @richmikan ถูกเผยแพร่ออกไป ก็ได้รับกระแสตอบรับจากคนญี่ปุ่นกลับมาในทางเห็นแย้ง ดังนี้
“ถึงจะมีชาวต่างชาติมาเที่ยวเยอะ แต่ Comiket มันก็จัดในญี่ปุ่นไม่ใช่เหรอ”
“หากจะมาญี่ปุ่น ก็หัดเรียนภาษาญี่ปุ่นสิ”
“หากอ่านคาตากานะไม่ได้ การไล่หาจากในแคตตาล็อกก็เป็นความสนุกอย่างหนึ่งของอีเวนท์นะ ถ้าหาไม่เจอ ก็แค่เรียนรู้วิธีอ่าน หรือหาคนที่เขาอ่านออกช่วยบอกทางให้ก็จบแล้ว”
“โดจินที่พวกคุณมาซื้อมันก็เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น หากไม่มีใครอ่านภาษาญี่ปุ่นออกเลย แล้วจะมาซื้อโดจินที่ Comiket ทำไมกันล่ะ?”
เอาแบบไม่มองตรรกะของคอมเมนต์ล่างสุดแล้ว (เพราะหลายคนที่เขาไปซื้อโดจินเพราะเขาอยากเสพอาร์ตกันก็มี ซึ่งไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาก็เข้าใจได้) ก็อาจแลดูเป็นคำตอบที่เย็นชาสำหรับประเทศที่ภาคภูมิใจในการบริการ ในเรื่องมารยาท แต่ความเป็นจริงที่ว่าชาวต่างชาติอ่านตัวคาตากานะลำบากก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงอยู่ดี บางทีผู้จัดงานรายอื่นถ้าได้เห็นเรื่องราวนี้แล้วหยิบไปปรับปรุงการจัดงานออกมาก็คงดี
หรือบางเจ้าก็ไม่ได้มองว่าผู้มาเที่ยวงานเป็นลูกค้า แต่เป็นเหล่าแฟนผลงานที่มารวมตัวกัน ทัศนคติในการจัดงานจึงไปในทางที่เลี่ยงไม่ให้ออกมาในเชิงพาณิชย์ให้ได้มากที่สุด ส่วนหนึ่งก็เพราะสินค้าโดจินชิที่วางจำหน่ายภายในงานมันเป็นสินค้าละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ที่เหล่าเจ้าของตัวจริงเขาแกล้งหลับตาข้างหนึ่งเพื่อไม่ให้มีปัญหากัน การรักษาสถานภาพ “มือสมัครเล่น” เอาไว้ จึงเป็นเกราะช่วยกำบัง ช่วยสร้างความเห็นใจ อีกนัยหนึ่งก็เป็นขอบเขตไม่ให้ทำอะไรยิ่งใหญ่เกินตัว อย่างการเข้าสู่เชิงพาณิชย์ด้วย
ฉะนั้นแล้ว Comiket อาจไม่จำเป็นต้องออกมาตอบสนองเสียงเรียกร้องของลูกค้าจากต่างประเทศแบบชัดเจนนัก เพื่อรักษาสถานภาพนี้ของทางงานเอาไว้ ไม่ให้โดนเล่นงานจนจัดต่อไม่ได้ ก็เป็นได้ แม้การบ่นของคุณ @richmikan จะบอกว่ากำแพงภาษาเป็นอุปสรรคทั้งกับฝ่ายผู้สร้างสรรค์ผลงานและฝ่ายแฟนผลงานก็ตามที ทางทีดี (ที่ไม่ใช่ทางลาดยาง) ก็คงเป็นการศึกษาภาษาญี่ปุ่นเอาไว้ในระดับหนึ่ง แค่ให้พออ่านตัวอักษรออกเป็นอย่างน้อย ก็คงช่วยได้เยอะ
Source: Twitter/@richmikan (1, 2) via SoraNews24