เป็นเพราะความต่างทางภาษา หรือการแสดงออกด้านอารมณ์ด้วยหรือเปล่านะ?
เมื่อกล่าวถึง “เอโมจิ” ต้องบอกก่อนว่ามันไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับ “อีโมชัน” (emotion ที่แปลว่าอารมณ์ความรู้สึก …ไม่ใช่ emoticon ซึ่งก็เป็นคนละอย่างไปอีกที) แต่มันคือ “ภาพ” ที่ใช้แทนข้อความ ดังความหมายตามตัวของมันที่ว่า 絵文字 ที่ 絵 (เอะ) แปลว่าภาพ และ 文字 (โมะจิ) แปลว่าตัวหนังสือ
ในความเป็นจริงแล้ว ญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์การใช้เอโมจิในการส่งข้อความมาอย่างยาวนาน พวกเขาจึงมีเอโมจิหลากหลายรูปแบบ และประเภทหนึ่งในนั้นคือ “คาโอโมจิ” ที่มีลักษณะเป็นภาพของใบหน้าคน ใช้แทนการแสดงอารมณ์ผ่านทางหน้าตา
คาโอโมจิได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และคีย์บอร์ด หรือแอพคีย์บอร์ดของญี่ปุ่นหลายเจ้าต้องมีฟังก์ชันนี้ติดเอาไว้ด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือแอพ Simeji ที่มีคาโอโมจิติดตั้งไว้รวมแล้วกว่า 10 ล้านรูปแบบ ตามความชอบของผู้ใช้งานในประเทศอื่น ๆ นอกจากญี่ปุ่นอีกด้วย
【調査】2019年、世界で最も使われた顔文字は ¯_(ツ)_/¯https://t.co/R6viKErRuY
「Simeji」が発表。¯_(ツ)_/¯は11ヵ国で1位を獲得しているが、日本ではランク外となった。 pic.twitter.com/JZ97slzMR9
— ライブドアニュース (@livedoornews) January 24, 2020
จากในภาพข้างต้น คืออันดับคาโอโมจิที่ถูกใช้มากที่สุดบนแอพ Simeji ในปี 2019 โดยเราจะขอระบุประเทศบนภาพดังต่อไปนี้
แถวบน: ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส
แถวกลาง: รัสเซีย, สเปน, อิตาลี, ตุรกี
แถวล่าง: อาร์เจนตินา, เม็กซิโก, อิรัค, อียิปต์
คาโอโมจิยอดนิยมของญี่ปุ่นคือ “(^^)” หน้ายิ้มแบบหลับตา รองลงมาคือ “หัวเราะ” และก้มลงคำนับ เป็นลำดับที่สาม ซึ่งเมื่อลองดูของประเทศอื่นแล้ว คาโอโมจิยอดนิยมอันดับหนึ่ง กลับเป็นเหมือนกัน(เกือบ)หมด คือ “ยักไหล่” (¯\_(ツ)_/¯) กลับกันกับที่ญี่ปุ่น ที่ไม่มีการใช้คาโอโมจิตัวนี้เลย
ชาวเน็ตญี่ปุ่นได้เห็นก็มีคอมเมนต์ต่าง ๆ ดังนี้
“เดี๋ยวนะ ตัวอักษรคาตากานะ “ทสึ” พร้อมท่ายักไหล่ มันแปลว่าอะไร?”
“บอกตรง ๆ ดูไม่ออกเลย เห็นแต่ตัว “ทสึ” ในนั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันมีความหมายอะไร”
“ประเทศอื่นอ่านตัว “ทสึ” ไม่ออกสินะ เลยเข้าใจความหมายของมัน แต่เราไม่”
“สำหรับคนญี่ปุ่น ตัว “ทสึ” มันมองให้เป็นหน้าคนไม่ออกอ่ะ มันเป็นตัวหนังสือชัด ๆ”
ตัวอักษรญี่ปุ่นที่อยู่กลางคาโอโมจิ “ยักไหล่” คือตัวคาตากานะ ทสึ – ツ (“tsu”) ซึ่งสำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับตัวหนังสือญี่ปุ่น อาจจะมองว่ามันเป็นรูปหน้าคนที่มีลูกตาเป็นเส้น 2 เส้นข้างบน และเส้นยาวด้านล่างแทนปากที่ยิ้ม หรือเม้มปาก แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วก็คงมองแบบนั้นได้ยากแหละ ถ้าไม่จินตนาการเพิ่มอีกหน่อย
ฉะนั้น ใครอยากลองแกล้งเพื่อนชาวญี่ปุ่น ลองเอาคาโอโมจิตัวนี้ไปหลอกถามได้ หรือถ้าอยากลองปรับสไตล์ตัวเองให้ดูแก่ ลองเอาเอโมจิพวกนี้ไปใช้ด้วยก็ได้นะ
Source: Livedoor NEWS via SoraNews24
Image: Irasutoya