อนิเมโปรโมทเกม Pokemon Sword&Shield ถูกโจมตี ว่าเหตุใดถึงทำให้ Saitou ผิวขาวกว่าในเกม

8,069 views

อีกครั้งที่โปเกมอนตกเป็นเป้าความขัดแย้งการเลือกปฏิบัติ ที่บางครั้งก็ชวนคิดว่าเหยียดจริง หรือแค่ระแวงเกิดเหตุ

นับเป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้วที่ Pokemon Sword และ Pokemon Shield ออกวางจำหน่ายทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก ซึ่งกระแสตอบรับนั้นส่วนใหญ่เป็นไปในทางที่ดี ด้วยความสนุกสนานของตัวเกม ระบบแปลกใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ทำให้แม้กระทั่งวันนี้ก็ยังมีคนตั้งใจเล่นกันอย่างไม่ลดละ …แม้แต่ทีมงานของ Akibatan เองก็ตาม

เมื่อชะตาขีดให้มากำเนิดเป็นโปเกมอนเทรนเนอร์ การไต่เต้าขึ้นไปสู่การเป็นแชมเปี้ยนจึงเป็นเหมือนเป้าหมายที่ล็อคเอาไว้ว่าต้องไปถึงให้ได้ (ส่วนจะไปแพ้รัว ๆ ก่อนปล่อยโปเกมอนทิ้งเล่น ๆ เหมือนใครบางคนหรือเปล่านั่นอีกเรื่อง) แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องผ่านการทดสอบหลายอย่าง ที่มาในรูปแบบของ “โปเกมอนยิม” ที่ภายในจะมี “ยิมลีดเดอร์” คอยเฝ้ารอการมาถึงของผู้เล่น ก่อนที่จะถูกปราบ และมอบเข็มกลัดเพื่อยืนยันการเติบโตของเทรนเนอร์ ก่อนจะก้าวไปสู่ด่านถัดไป

ด้วยกระแสตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม ทำให้เซ็ตติ้งของภาคนี้ถูกนำไปดัดแปลงเป็นฉบับแอนิเมชันชุด 7 ตอน ความยาวตอนละ 5 นาที เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในโลกของโปเกมอนภาคนี้ ในชื่อ Pokemon: Hakumei no Tsubasa ออกฉายครั้งแรกวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ทางช่อง Pokemon Official Youtube Channel บน Youtube

และตัวละครสาวสปอร์ตผิวแทน Saitou (CV. Kitamura Eri) หรือ Bea ในฉบับภาษาอังกฤษ ก็เป็นหนึ่งในยิมลีดเดอร์จากภาค Sword และ Shield ในฉบับวิดีโอเกม และเมื่อเร็ว ๆ นี้เธอก็ได้มามีบทบาทในตอนที่ 2 ของฉบับแอนิเมชันฉายทางอินเตอร์เน็ตดังกล่าวเช่นกัน

ข้อมูลของ Saitou ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของฉบับเกม และภาพจากภายในเกม

หลังจากที่ตอนดังกล่าวออกฉาย ก็มีกระแสตอบรับจากผู้ชมฝั่งตะวันตก ในเชิงต่อว่าทีมงานผู้ผลิตแอนิเมชันชุดนี้ ว่าจงใจทำให้ผิวของไซโต้ดูขาวขึ้นกว่าปกติ ไม่เคารพสีผิวของเธอจากที่เคยเป็นอยู่ในเกมต้นฉบับ เป็นการ whitewashing เหมือนกับการเอานักแสดงคนขาวไปเล่นบทของคนเชื้อชาติอื่น กีดกันนักแสดงเชื้อชาติอื่นไม่ให้มีตัวตน ที่เกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด

 

แม้จะมีผู้ชมอีกฝ่ายที่มองว่าการที่สีผิวเป็นแบบนั้น ก็เพราะแสงสว่างจ้าของดวงอาทิตย์ ที่มีให้เห็นในเรื่องตลอดทั้งตอนก็ตาม

ชาวเน็ตได้เห็นดราม่าเรื่องนี้ก็มีความเห็นแตกต่างกันไป เช่น

“แปลว่าถูกทำให้ขาว?”
“คนที่หัวร้อนเพราะเรื่องสีผิวของไซโต้เนี่ย เป็นพวกที่พอเห็นผิวถูกแดดไหม้ ก็เหมาว่าเป็นคนดำทั้งหมดหรือเปล่านะ มันก็มีทั้งคนที่ผิวคล้ำแดด กับคนที่มีสีผิวดำมาแต่กำเนิด อย่ามาเหมารวมว่าทุกคนต้องเป็นคนดำหมด เพื่อสนองความใคร่ทางศีลธรรมของตัวเองสิ”
“ในเกมก็มีบอกนะว่าตากแดดเยอะสีผิวเลยเป็นแบบนั้น”
“ไม่รู้จักสาวแกลล์แหง ๆ”
“ก็ผิวมันโดนแสงไม่ใช่เหรอ?”
“มิน่าถึงดูในอนิเมแล้วไม่ค่อยคุ้นตาเหมือนที่เคยเห็นในเกม”
“แบบนี้ถือว่าพวกวันริกี้โดนทำให้เป็นโปเกมอนขาวด้วยหรือเปล่า?”

นอกจากเรื่องสีผิวแล้ว ยังมีบางความเห็นกล่าวว่าตัวละครนี้เป็นชาวญี่ปุ่น เพราะมีชื่อว่า “ไซโต้” และในญี่ปุ่นก็มีเทรนด์ที่เด็กสาววัยรุ่นมักไปทำสีผิวให้เป็นสีแทน ตามสไตล์สาวแกลล์อีกด้วย จึงไม่ใช่สีผิวที่ติดตัวมาโดยกำเนิด การทำให้ขาวจึงไม่ใช่เรื่องของการ whitewashing แต่อย่างใด นับเป็นอีกมุมหนึ่งในการสนทนาที่น่าสนใจ

แต่กรณีทำนองนี้ที่เกิดขึ้นกับ Pokemon ก็ไม่ได้มีเหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรก ย้อนไปเมื่อช่วงที่เกมภาค Sword และ Shield วางจำหน่ายใหม่ ๆ ก็เคยมีดราม่าเรื่องสีผิวของตัวละคร Rurina (Nessa) ในภาพวาดแฟนอาร์ตของศิลปินท่านหนึ่งเช่นกัน หรือกรณีคลาสสิกกับการออกแบบตัวละครโปเกมอน Ruujura ที่ถูกมองว่าเป็นการล้อเลียนคนผิวดำ เป็นต้น

จากแบรนด์ที่มีต้นกำเนิดในญี่ปุ่น การก้าวไปสู่การเป็นแบรนด์ระดับสากลของ Pokemon นั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจะต้องมีโอกาสพบเจอกับปัญหา ความขัดแย้งในมุมมองทางความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมของผู้ชมในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่คนเหล่านี้มีความรู้สึกร่วมกัน คือความน่ารักของเหล่าโปเกมอน ที่เห็นแล้วอยากจะให้มีตัวตนขึ้นมาใช้ชีวิตร่วมกับพวกเราในโลกจริง ใช่ไหมล่ะ?

Source: Hachima Kikou