งาน DIY น่ารัก ๆ แบบนี้ เชื่อหรือไม่ว่าเกิดจากความเสียดายขวดใส่โชยุแบบใช้แล้วทิ้ง
สำหรับเบนโตะ หรือข้าวกล่องสไตล์ญี่ปุ่นนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นงานศิลปะที่ทานได้เลยก็ว่าได้เพราะไม่เพียงแค่คุณค่าทางอาหาร และความประหยัดเท่านั้น แต่การจัดวางก็ล้วนทำออกมาได้อย่างน่าหลงใหล และมีการใช้สอยพื้นที่ในกล่องข้าวอย่างเต็มที่เพื่อหวังให้ผู้ทานทั้งอิ่มกาย และอิ่มใจ
และหนึ่งในสิ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้การใช้พื้นที่ในกล่องเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือขวดบรรจุโชยุขนาดเล็กที่มีรูปร่างอันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งมักจะมาในรูปทรงของปลา และจุกฝาสีแดงสดที่ไม่เพียงบรรจุสิ่งที่ช่วยเติมเต็มรสชาติให้กับข้าวกล่องที่รายละเอียดของตัวปลาก็ทำมาได้อย่างสวยงามทั้งลายเกล็ด ครีบ หรือแม้แต่ดวงตา
ที่ทำออกมาได้สวยงามจนไปเตะตานักออกแบบถึงขนาดที่กลายเป็นไอเดียการออกแบบสินค้าใหม่รูปทรงขวดโชยุขนาดใหญ่ที่มีชื่อเรียกว่า Light Soy
และตามชื่อของมัน Light Soy เป็นโคมไฟตั้งโต๊ะแบบเก๋ ๆ ที่ถ้าเพื่อนมาเที่ยวบ้านคุณคงอดถามไม่ได้ว่านี่มันอะไรกัน
หรือจะใช้เป็นแบบห้อยเพดานก็ดูดีไม่แพ้กัน
แต่ที่น่าประหลาดใจคือ แม้ว่าต้นแบบของมันจะมาจากญี่ปุ่น แต่โคมไฟอันนี้ถูกทำขึ้นมาจากทางฝั่งออสเตรเลียต่างหาก! โดยฝีมือคุณ Jeffrey Simpson ดีไซเนอร์จากลอนดอน และดีไซเนอร์ชาวออสเตรเลีย คุณ Angus Ware โดยพวกเขาทั้งสองได้ไอเดียนี้ขึ้นมาในวันหนึ่งขณะกำลังนั่งทานซูชิ และต้องประหลาดใจกับจำนวนขวดโชยุที่พวกเขาได้ใช้ไป ซึ่งทั้งคุณ Simpson และ Ware ผู้เติบโตมาในแทบชายฝั่งต่างก็คิดว่ามันช่างไม่สมเหตุสมผลเลยที่ขวดทรงปลาแบบใช้ครั้งเดียวเหล่านี้จะต้องมาลงเอยที่การกลายเป็นขยะที่ย้อนมาทำร้ายชีวิตในท้องทะเลเช่นนี้
งานนี้เรียกได้ว่าออกแบบมาได้ทั้งทนทาน และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ตัวโคมไฟนี้ทำขึ้นจากแก้วโบโรซิลิเกตที่ทำให้ผิวมีลักษณะลายฝ้า ส่วนหลอดไฟใช้เป็นหลอด LED ซึ่งมีอายุการใช้งานนาน และส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ทจากอลูมิเนี่ยมเคลือบสี ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลาออกแบบ และพัฒนาทั้งสิ้นนานกว่าสามปี โดยหมดเวลาไปกับการทำให้กระบวนการเป่าแก้วสมบูรณ์ที่สุดนานถึงสองปี
ในส่วนของแพ็คเกจนั้นเพื่อแสดงถึงความเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมก็จะไม่มีสองพลาสติกเลยแม้แต่ชิ้นเดียว และมาในรูปแบบของกล่องกระดาษที่ย่อยสลายได้ และกระดาษชานอ้อน ในส่วนของหูหิ้วจะทำจากเชือกผ้าฝ้ายทำให้สามารถหิ้วกลับบ้านได้อย่างสะดวกสบาย
ทั้งในส่วนของรุ่นเสียบปลั๊ก และรุ่นสาย USB-C ที่มาพร้อมกับระบบการปรับแสงด้วยการสัมผัส และฐานอลูมิเนียมจะอยู่ที่ราคา 649 เหรียญออสเตรเลีย หรือประมาณ 13,400 บาท โดยสามารถสั่งจองได้จากทั่วโลกทางเว็บไซต์ และจะเริ่มจัดส่งในปลายเดือนเมษายน
Source, photos: Heliograph