อนิเมชั่นญี่ปุ่นจะทำตลาดใน Netflix ได้แค่ไหน พูดคุยกับสามตัวแทนจากงาน Netflix Anime Festival 2020

1,705 views

Netflix Anime Festival 2020 เปิดตัว Line Up อนิเมใหม่จากทาง Netflix มากถึง 16 เรื่องให้ได้ตื่นเต้นต้อนรับท้ายปี เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่มาอ่านบทความนี้คงเป็นสมาชิกของทาง Netflix กันอย่างแน่นอน

สำหรับวันนี้เองทาง Akibatan ก็มีบทความจากการสัมภาษณ์พิเศษที่เปิดให้สื่อนานาชาติเข้าร่วมสัมภาษณ์เกสต์ทั้ง 3 ท่าน จากทาง Netflix ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น Akibatan ก็ได้รับสิทธิ์เป็นหนึ่งในสื่อตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการสัมภาษณ์ด้วยเช่นกัน!

เกสต์ทั้ง 3 ท่าน ผู้ให้สัมภาษณ์

Sakurai Taiki : สวัสดีครับ ผม Sakurai Taiki เป็นโปรดิวเซอร์อนิเมจากทาง Netflix Japan ครับ

Tanaka Shuichiro : จากทาง David Production Studio ครับ ผลงานที่ผมรับผิดชอบยกตัวอย่างเช่น โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ และผลงานล่าสุด Spriggan ครับ

Yamazaki Mari : ดิฉันมาริค่ะ เป็นผู้เขียนการ์ตูนเรื่อง “สู้ต่อไป ลูเซียส”

คิดอย่างไรกับอนิเมที่นำมาดัดแปลงสู่รูปแบบภาพยนตร์คนแสดง อะไรคิดสิ่งที่แอนิเมชันมีได้ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในฉบับคนแสดง?

Yamazaki Mari : ในตอนที่ฉันเขียนมังงะนั้น มันอยู่ในรูปแบบสองมิติอย่างที่ทราบกันค่ะ ไม่เคยคิดว่าจะเป็นอนิเมหรือไลฟ์แอคชั่นเลย แต่ “สู้ต่อไป ลูเซียส” ก็ได้กลายมาเป็นฉบับคนแสดง ตัวฉันเองก็มีประสบการณ์ในการวาดรูปน้ำมันมาก่อน ประกอบกับก็ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพเหล่านี้ การที่ได้เห็นมันขยับจากฝีมือการวาดของคน ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ การเป็นแอนิเมชั่นมีสิ่งที่สำคัญมากๆ ในวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งสำหรับเรื่อง “สู้ต่อไป ลูเซียส” มันเป็น “การสร้างสรรค์” ที่ออกมาผสมกับทุกอย่างจนกลายเป็นอนิเมชั่น ทำให้ฉันรู้สึกตื่นเต้นมากๆ ที่ได้เห็น และมันก็ต่างจากที่ได้เห็นฉบับคนแสดงอย่างสิ้นเชิงด้วยค่ะ

Tanaka Shuichiro : สำหรับผมเอง มันเป็นการมองภาพที่เสมือนจริง แต่เรารับรู้ถึงงานศิลปะ อนิเมเหมือนการเอาไอเดียมาผสมผสานเข้ากับความรู้ ทักษะต่าง ๆ การเป็นอนิเมนั้นมีความแตกต่าง เพราะอนิเมตัวละครมีความโดดเด่นโดยไม่ต้องสนใจเชื้อชาติไม่เหมือนกับฉบับไลฟ์แอคชั่นที่เราจะมองไปที่บริบทของตัวละครมาก ในญี่ปุ่นเรามีกฏอยู่ทำนองว่า นอกจากการสร้างอะไรที่ดูเกินจริงแล้ว เรายังพยายามสร้างอะไรที่ดูเหมือนจริง มีความเรียล ออกมาด้วย ซึ่งเราสัมผัสได้จากการเคลื่อนไหวของแอนิเมชัน แอนิเมชันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของใครหลายคน ผมว่าการสร้างอนิเมนั่นค่อนข้างพิเศษครับ

Sakurai Taiki : ผมเคยเจอกับคำถามแบบนี้มาหลายครั้งมาก ๆ การเป็นฉบับคนแสดงนั้นขึ้นอยู่กับนักแสดงและตัวละคร อยู่กับพื้นฐานประวัติ สิ่งต่างๆ ของเขา คุณสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขามีตัวตนอย่างไร แต่ในอนิเม มันเป็นการสร้างตัวละครขึ้นมาให้มันขยับเคลื่อนไหว ซึ่งบางครั้งเราจะไม่รู้สึกเลยว่าพวกเขาเป็นใครมาจากไหน แต่สิ่งที่เขาทำ จะเป็นตัวบ่งบอกความเป็นตัวของเขาเอง

(ถามคุณ Mari) กำลังมีโปรเจกต์อะไรกับทาง Netflix หรือไม่ มีความเป็นมา หรือคุณมาเริ่มงานชิ้นนี้กันได้อย่างไร?

Yamazaki Mari : ทาง Netflix เขาติดต่อมาหาฉัน แล้วก็บอกว่าผลงานของฉันจะถูกเผยแพร่ กระจายออกไปทั่วโลก! ซึ่งฉันไม่เคยคิดเลยว่ามันจะกระจายไปถึงขนาดนี้ ซึ่งฉันเองก็มีโอกาสได้ท่องเที่ยวไปหลายที่ และพยายามเผยแพร่ผลงานของฉันด้วยตัวเอง ซึ่งบางครั้งผู้คนเขาก็อาจจะงงกับผลงานของฉัน แต่ในครั้งนี้ผลงานเหล่านั้นอยู่บน Netflix ทำให้ผู้คนได้ดู ได้รับชมมันโดยที่ฉันไม่ต้องคอยอธิบาย สำหรับฉันแล้ว Netflix คือสถานที่ไม่ต้องคิดถึงสปอนเซอร์ แบรนด์ มันมีอิสระมาก ๆ ในแพลตฟอร์มนี้ ต่างจากในญี่ปุ่นตามปกติ ที่เราจำเป็นต้องคิดถึงหลาย ๆ สิ่งในการนำเสนอเนื้อหา ว่าสิ่งนี้ผิด ถูก หรือมีข้อจำกัดใด ๆ ด้วยหรือไม่

ในการผลิตแอนิเมชันของทาง Netflix มีความแตกต่างจากแอนิเมชันที่ถูกผลิตเพื่อฉายในประเทศหรือไม่?

Tanaka Shuichiro : เมื่อคุณทำแอนิเมชัน ผมไม่คิดว่ามันแตกต่างกับการทำผลานแอนิเมชันทั่วไป แต่ว่าการทำงานกับ Netflix นั้น บางทีมันอาจเป็นสถานที่ที่เราสามารถทำให้เนื้อหาทั้งหมดของเรารวมอยู่ที่เดียวกันได้ตั้งแต่ในขั้นตอนการประชุม ตรงนี้คือข้อที่ทำให้ผมชอบที่จะทำงานกับทาง Netflix และแน่นอน การที่ผลงานของเราได้กระจายสู่คนจำนวนมาก ก็เป็นเรื่องที่วิเศษมาก ๆ ไม่แพ้กันครับ

Yamazaki Mari : สำหรับฉันแล้ว Netflix มีความแต่งต่างในการฉายมาก เมื่อเทียบกับในญี่ปุ่น เราไม่เคยรู้เลยว่าผลงานที่กำหนดมาว่าจะฉายบนทีวี มันจะได้ไปโผล่ที่ไหนบ้าง แต่กับ Netflix เรามีมั่นใจได้ว่ามันจะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกได้ นั่นเป็นสิ่งที่วิเศษ มันเป็นสิ่งที่ทำให้ต่างจากระบบการฉายภาพยนตร์และแอนิเมชันที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิงค่ะ

คิดว่าอนิเมสมัยก่อนและปัจจุบันต่างกันไหม นับในช่วงสิบปี หรือระยะนี้ก็ได้?

Tanaka Shuichiro : สำหรับอเมริกาและจีน ผมว่าแนวที่เปลี่ยนไปคือแนวของแอนิเมชันที่ผู้คนรับชมครับ สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นชัดเจนคือ “แนวทางของเนื้อหา” มันค่อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จำนวนของ “หมวดหมู่” ในช่วง 2 – 3 ปีนี้ก็แตกต่างออกไป จากที่เมื่อก่อนเราจะสนใจเป็นหมวด ๆ เดียว เช่นแนว slice of life แต่ในเวลานี้ทุกอย่างค่อย ๆ พัฒนาขึ้นครับ

Yamazaki Mari : ข้อนี้นับว่ายากเลย เพราะตัวฉันเองส่วนมากไม่ได้อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นค่ะ เพราะงั้นบางครั้งฉันจึงตามกับผลงานในประเทศไม่ได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่ฉันพอจะบอกได้เช่น ภาพอันสวยงานของ Studio Ghibli กลับมาได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยนี้ ฉันได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงเวลาอันสั้น แต่เมื่อเทียบกับยุคอนาล็อคแล้ว อะไรที่มีจำนวนเยอะขึ้น ก็ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัดเจน อย่างเช่นเรื่องของสีสันในตัวผลงาน เป็นต้น

Netflix จะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการทำงานแอนิเมชันในอนาคตหรือไม่?

Taiki Sakurai: ปัจจุบันผลงานส่วนใหญ่ของเรายังคงผลิตโดยการวาดมือครับ แต่ว่าเราสามารถเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและจำนวนคนได้ขึ้นอยู่กับวิธีการ เมื่อก่อนมันจะมีการกำหนดที่แน่ชัดในหน้าที่และตำแหน่งในการทำแอนิเมชัน แต่ในสมัยนี้ขั้นตอนการทำงานเปลี่ยนไปด้วยคอมพิวเตอร์ ทั้งการทำกราฟฟิค และ 3D รวมไปถึงเทคนิคต่าง ๆ เราอยากจะลองทำอนิเมชันด้วยเทคโนโลยี 4K และนอกจากนี้รวมไปถึงการใช้งาน Unreal Engine เข้ามาช่วย และ AI ก็เช่นกัน

(ถามคุณ Mari) ในฐานะของนักเขียนการ์ตูนแล้ว คุณเคยคิดว่าผลงานของตัวเองจะถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ในตอนที่สร้างมันขึ้นมาไหม?

Yamazaki Mari : ถ้าคุณคิดถึงมังงะ คุณจะคิดถึงความเป็นไปได้ที่มันจะถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลกเสมอ ตั้งแต่ตอนที่ฉันอายุ 17 จนถึง 53 ฉันอยู่นอกญี่ปุ่นมาโดยตลอด จนไม่คิดว่าตัวเองเหมือนคนญี่ปุ่นแล้ว การได้ไปเยือนหลาย ๆ ประเทศ มันเหมือนการได้มองโลกและประเทศญี่ปุ่นจากมุมสูง ซึ่งมันผลักดันให้งานของฉันพัฒนาตามประสบการณ์ และถูกนำเสนอออกไปทั่วโลก

(ถามคุณ Shuichiro) ในฐานะสตูดิโอแอนิเมชัน คุณคิดว่า Netflix มีบทบาทอะไรในวงการบ้าง มันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในมุมมองของคุณแบบไหนบ้างหรือไม่?

Tanaka Shuichiro : สำหรับผมแล้วก่อนที่ Netflix จะมาถึงญี่ปุ่น โลกของเราถูกตัดขาดออกไปเลย การที่เราได้ทำงานกับ Netflix เหมือนกับว่าโลกกับญี่ปุ่นได้อยู่ใกล้กันมากขึ้น สมัยก่อนผมเชื่อว่าผลงานที่จะถูกเผยแพร่ได้ต้องดังจากในญี่ปุ่นก่อน ไม่ว่าจะเป็นแอนิเมชัน ของเล่น หรือสิ่งต่าง ๆ แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ แต่กลับเริ่มเป็นทางตรงกันข้าม นั่นคือมุมมองที่เปลี่ยนไปครับ

สำหรับอนิเม นับว่ามีรากฐานที่ฝักลึกมาจากประเทศญี่ปุ่น เราอยากทราบว่าในมุมมองของคุณนั้น มีแผนจะไปทำงานร่วมกับผู้ผลิตตามท้องที่ต่าง ๆ นอกจากญี่ปุ่นไหม?

Taiki Sakurai: แน่นอน เรามีความคิดจะทำเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่นทีมงานทั้งหมดในทีม ๆ หนึ่งอาจจะมาจากนานาชาติที่ไม่ซ้ำกันในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ เราคิดว่าในการทำอนิเม การสร้างทีมที่เป็นกลุ่มสมาชิกนานาชาติเช่นนี้ เป็นจุดเด่นพิเศษของพวกเราเอง

คุณคิดว่าการให้ความคำรพต้นฉบับของมังงะนั้นจำเป็นแค่ไหนในการทำอนิเม? คุณคิดว่ามันเป็นความกดดันหรือไม่ เวลาที่ต้องทำผลงานอนิเมที่มีแฟนคลับจากต้นฉบับอย่างหนาแน่น?

Tanaka Shuichiro : ตัวผมเองมีความรู้สึกกดดันเวลาที่เราต้องทำอนิเมที่มาจากมังงะครับ แน่นอนว่าโดยเฉพาะเรื่องที่มีกลุ่มแฟนคลับขนาดใหญ่ โดยภายใน David Production นั้นหลังจากที่เราได้รับต้นฉบับงาน เราจะมีการประชุมหลายต่อหลายครั้งภายใน กับหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ฝ่ายวางแผน ผู้เขียนบท รวมไปถึงแอนิเมเตอร์อีกด้วย เราพูดคุยถึงเนื้อหาของเรื่องราว วิธีที่เราจะนำเสนอและอยากให้มันเป็น อย่างเช่นเรื่อง “โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ภาคสายลมทองคำ” เราก็จัดทริปไปที่อิตาลีซึ่งเป็นสถานที่ฉากหลังในเรื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเราจะสามารถเข้าถึงต้นฉบับของเรื่องราวเหล่านี้ได้ครับ

Yamazaki Mari : ตัวฉันเองนับว่ามีผลงานที่ผ่านมือแล้วถูกนำไปดัดแปลง ทั้งแอนิเมชันและไลฟ์แอคชันค่ะ ซึ่งมุมมองของฉันคือการที่ผลงานเหล่านี้ไปถึงมือใครมันก็ถือเป็นการพัฒนาอีกแบบหนึ่ง ฉันไม่คิดมากสำหรับการที่จะต้องรักษาเนื้อหาต้นฉบับเอาไว้ มันคือการส่งต่ออุปกรณ์ ไอเดีย ความคิด จากผู้สร้างคนหนึ่งสู่ผู้สร้างอีกคนหนึ่ง

ตัวฉันเองในฐานะนักแต่งมังงะแนวประวัติศาสตร์ ก็ผ่านประสบการณ์ที่ต้องค้นคว้าข้อมูล และนำมาสรุปในรูปแบบของตัวเองก่อนจะสร้างออกมาเป็นผลงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เคยเกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่อื่น ๆ ฉะนั้นในฐานะของผู้แต่งแล้ว ฉันไม่คิดมากเรื่องการดัดแปลงผลงานของตัวเองเท่าไรค่ะ ฉันอยากให้ผู้สร้างได้แสดงความคิดของตัวเองในทิศทางของตัวเอง ที่มันมีอิสระมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ผลงานของฉันเองนับว่าเป็นผลงานที่ส่งต่อจากผู้ผลิตในประเทศญี่ปุ่นไปยังทั่วโลก มันอาจจะมีความแตกต่างในรายละเอียดต่าง ๆ เช่นมุมมองด้านศาสนา เนื้อหาบางอย่างที่เราเขียนอาจจะสร้างข้อขัดแย้งได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องระวังเวลาที่จะเขียนอะไร โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ซึ่งบางจุดเราอาจจะต้องปล่อยให้เนื้อหาบางอย่างเป็นจินตนาการณ์ของผู้อ่านเอง ดังนั้นถ้าจะพูดคือเราไม่จำเป็นต้องคิดมากถึงประเด็นนี้ แต่ว่ามันก็มีสิ่งที่ต้องระวังด้วยเช่นกัน

จบกันไปแล้วกับสัมภาษณ์จากสามเกสต์สุดพิเศษจากงาน Netflix Anime Festival 2020 ที่มาร่วมตอบคำถามกับสื่อทั่วโลกกันไปแล้ว ซึ่งอย่าพลาดกับการสัมภาษณ์ถัดไปของ Akibatan ที่จะยังอยู่กันที่งาน Netflix Anime Festival 2020 โดยจะเป็นการสัมภาษณ์ใครนั้น ติดตามได้เร็ว ๆ นี้